กิจกรรมวิชาการ.

P1030035

 

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 โครงการพัฒนาระบบบริการบำบัดผู้มีปัญหาเสพติดสารกลุ่ม Opiates/Opioids (ฝิ่น/เฮโรอีน ฯลฯ) แบบ Opioid Substitution Treatment (OST) ด้วยยาอมใต้ลิ้น โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกรมควบคุมโรคและกองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดการสัมมนาทางไกลเรื่อง นโยบายและมาตรการบำบัดผู้เสพติดฝิ่น/เฮโรอีนด้วยยา buprenorphine/ naloxone  ณ ห้องประชุม DONALD JEFFREY GIBSON โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในเภสัชวิทยาและประโยชน์ทางคลินิกของยา buprenorphine/naloxone (BUP/Nx) สร้างความเข้าใจในแนวทางการใช้ buprenorphine/naloxone เป็นทางเลือกในการบำบัด ฝิ่น/เฮโรอีน ในประเทศไทย  และพัฒนาแนวทางการจัดบริการนำร่องบำบัดด้วย buprenorphine/naloxone ที่เหมาะสม ในคลินิกเมทาโดนนำร่อง 5 แห่งในประเทศไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ และผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ 200 คน

ในการสัมมนามีการให้ความรู้ โดย Professor Robert Ali จาก University of Adelaide ประเทศออสเตรเลีย ในด้านเภสัชวิทยา แนวทางการใช้ยา buprenorphine/naloxone ตามมาตรฐานสากล ผลข้างเคียง และข้อควรระวังในการให้การบำบัดด้วยยา BUP/Nx โดยเปรียบเทียบกับยาเมทาโดนที่ใช้อยู่ในระบบปกติในปัจจุบัน อาจารย์นพ.สุทธิพันธ์ ตรรกไพจิตร จิตแพทย์ที่ปรึกษาโครงการฯ ร่วมให้ประสบการณ์การใช้ยา BUP/Nx ในสถานฟื้นฟูคนไข้ยาเสพติดชาวต่างชาติในจังหวัดเชียงใหม่  นางบุษบา ตันติศักดิ์ จากกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเกี่ยวทิศทางการดำเนินงานที่ได้รับทุนจากกองทุนโลกเพื่อยุติปัญหาเอดส์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ฉีดยาเสพติด และนพ.อภิศักดิ์ วิทยานุกูลลักษณ์ ผู้อำนวยการรพ.ธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน ให้ข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในปัจจุบัน รวมถึงปัญหาการบำบัดดูแลคนไข้ที่เสพติดยากลุ่มฝิ่น/เฮโรอีน

นอกจากนี้ ผศ.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ หัวหน้าโครงการฯ ยังได้ให้ข้อมูลด้านแผนการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบำบัดนำร่องด้วยยาตัวนี้ในคลินิกเมทาโดน 5 แห่ง คือ รพ.ธัญญารักษ์เชียงใหม่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.ธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน ศูนย์บำบัดยาเสพติด ของกรุงเทพมหานคร และรพ.ธัญญารักษ์ปัตตานี โดยมีการดำเนินการในช่วง ปี พ.ศ. 2564-2565 ครอบคลุมคนไข้ 620 คน ที่จะได้รับยาทดแทน buprenorphine/naloxone ในการบำบัด  อาจารย์สังวร สมบัติใหม่ จากภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ให้แนวทางการให้คำปรึกษาและการดูแลฟื้นฟูสภาพคนไข้อย่างเหมาะสม  รศ.พญ.สุรินทร์พร ลิขิตเสถียร จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ให้แนวทางการฝึกอบรมทีมแพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เพื่อเปิดบริการให้การบำบัดดังกล่าว รวมถึงนายวีระพันธ์ งามมี ผู้จัดการมูลนิธิโอโซนแห่งประเทศไทย  ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ของภาคประชาสังคมในการร่วมค้นหาและจูงใจผู้ฉีดยาเสพติดให้เข้ารับบริการ ทั้งการลดอันตรายจากยาเสพติด การบำบัดยาเสพติดแบบทดแทน และการป้องกันการติดเชื้อ HIV HCV และกามโรค  โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหน่วยงานต่างๆ และภาคประชาสังคมได้มีการซักถามอภิปรายและเสนอแนะแนวทางการจัดบริการที่เหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่

 

P1030047 P1030049 P1030042 2021-09-13 (1) copy 2021-09-13 (2) copy 2021-09-13 (3) copy 2 2021-09-13 (5) copy 2021-09-13 (18) copy 2021-09-13 (19) copy 2021-09-13 (22) copy 2021-09-13 (25) copy 2021-09-13 (26) copy

 

……………………………………………………….

ข่าวโดย หน่วยประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Post 1226 Views