กิจกรรมวิชาการ.

052

ศ.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ และเป็นผู้วิจัยหลักของประเทศไทยในโครงการวิจัยยาต้านไวรัสในคู่ผลเลือดเอชไอวีต่างกัน  (HPTN 052) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ในการประชุม International AIDS Society (IAS) Conference on HIV Pathogenesis, Treatment and Prevention ครั้งที่ 8 ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ได้มีการประกาศผลสรุปสุดท้ายอย่างเป็นทางการของโครงการวิจัยดังกล่าวที่ได้ดำเนินการวิจัยติดต่อมายาวนานกว่า 10 ปี   เพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลของการยาต้านไวรัสในการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีในคู่สมรส/คู่รักที่มีผลเลือดเอชไอวีต่างกัน

ias

สรุปประเด็นข้อค้นพบที่สำคัญเมื่อสิ้นสุดโครงการวิจัยได้ดังนี้

  1. โครงการนี้เป็นโครงการวิจัยทางคลินิกแรกที่แสดงให้เห็นว่าการเริ่มรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสเร็วขึ้นในขณะที่ระดับเม็ดเลือดขาวซีดีสี่ อยู่ระหว่าง 350 -550 เซลล์/ลบมม. ช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปสู่คู่ที่ยังไม่ติดเชื้ออย่างได้ผลและยังมีผลดีต่อสุขภาพของตัวผู้ติดเชื้อเอง
  2. เมื่อสิ้นสุดการศึกษา พบว่า การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเร็วขึ้นช่วยลดการติดเชื้อไปสู่คู่ได้ 93 % ซึ่งใกล้เคียงกับผลการศึกษาเบื้องต้นเมือปี 2554 ที่ 96%
  3. ไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อไปสู่คู่ที่เป็นผลลบในรายของผู้ติดเชื้อที่มีการกินยาต้านอย่างสม่ำเสมอ และยาต้านสามารถกดไวรัสในกระแสเลือดจนตรวจไม่พบได้
  4. การที่ผู้ติดเชื้อกินยาต้านจนสามารถกดไวรัสได้เต็มที่และควบคุมปริมาณไวรัสไว้ได้ในระยะยาว นับเป็นวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่ผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนวิธีหนึ่ง

 IMG_2309

ผลสรุปสุดท้ายของโครงการที่เพิ่งจะมีการแถลงผลออกมา จึงช่วยยืนยันถึงความสำคัญของแนวคิด “treatment as prevention” หรือ “การรักษาเปรียบเสมือนการป้องกัน”  ที่มีการแนะนำให้เริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อเร็วที่สุดโดยไม่ต้องคำนึงถึงระดับของซีดี 4 หรืออาการของโรค ซึ่งผลของการเริ่มยาต้านเร็วจะส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพของผู้ติดเชื้อ และยังช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่คู่สัมผัส  ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยนำพาเราไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทยและของโลกต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้

 

ข้อมูลโครงการวิจัยยาต้านไวรัสในคู่ผลเลือดเอชไอวีต่างกันโดยย่อ

โครงการนี้เป็นการศึกษาวิจัยทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ชนิดการสุ่มเปรียบเทียบ  เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาต้านไวรัสในการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีทางเพศสัมพันธ์ในคู่สมรส/คู่นอนที่มีผลเลือดต่างกัน หรือพูดอีกอย่างว่า คู่ที่คนหนึ่งติดเชื้อแล้วแต่อีกคนยังไม่ติดเชื้อ และยังศึกษาถึงการประเมินผลเวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มยาต้านเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและอัตราตายในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี

การศึกษาวิจัยในครั้งนี้มีคู่สมรส/คู่รักที่มีผลเลือดต่างกันสมัครเข้าร่วมจำนวน 1763 คู่  จาก 13 หน่วยวิจัย ใน 9 ประเทศ ทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย (ในประเทศไทย) อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ระหว่างเดือนเมษายน พศ. 2548 ถึงเดือนพฤษภาคม 2558  ผู้ติดเชื้อมีซีดี 4 อยู่ระหว่าง 350-550 เซลล์/ลบมม. และถูกสุ่มอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คือ 1)กลุ่มที่ได้กินยาต้านฯทันทีเมื่อเริ่มเข้าโครงการ 2) กลุ่มที่ได้กินยาช้ากว่าคือได้กินเมื่อซีดี 4 ลดต่ำลงมาเท่ากับหรือน้อยกว่า 250 เซลล์/ลบมม.สองครั้งติดต่อกัน อาสาสมัครร้อยละ 97 เป็นอาสาสมัครคู่ต่างเพศ (heterosexual)

อาสาสมัครแต่ละคู่ยินดีที่จะได้รับการติดตามจากโครงการวิจัยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี  ข้อมูลที่ได้รับจากอาสาสมัครทั้งคู่ตลอดการศึกษาวิจัย ได้แก่ การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีเป็นระยะในอาสาสมัครที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี และข้อมูลด้านปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวีในอาสาสมัครที่ติดเชื้อ  อาสาสมัครทุกรายได้รับการให้คำปรึกษาแบบคู่  การให้คำปรึกษาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเอชไอวี  ได้รับการแจกถุงยางอนามัยฟรี   ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  และการให้คำแนะนำ/รักษาภาวะเจ็บป่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการติดเชื้อที่อาจมีผลต่อสุขภาพของคู่อาสาสมัคร ตลอดเวลาที่อยู่ในโครงการวิจัยฯ

เมื่อเดือนพค. 2554 ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า

ในแง่การป้องกัน: การให้ยาต้านไวรัสเร็วเพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวี สามารถลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปสู่คู่ได้ 96%

ในแง่การรักษา: การให้ยาต้านไวรัสเร็ว ลดอัตราการเกิดโรคฉวยโอกาสกับเอชไอวีได้ 41% โดยเฉพาะวัณโรคนอกปอด โดยไม่ได้เพิ่มอัตราการเกิดผลข้างเคียงจากยา

ผลการวิจัยเบื้องต้นดังกล่าวทำให้คณะกรรมการกำกับดูแลข้อมูลและความปลอดภัยของโครงการวิจัยแนะนำให้ เสนอการรักษาด้วยยาต้านไวรัสให้กับอาสามัครผู้ติดเชื้อในโครงการที่ยังไม่ได้กินยาต้านไวรัส ซึ่งอาสาสมัครจะเลือกที่จะกินยาหรือไม่กินยาแล้วแต่ความสมัครใจ และให้โครงการติดตามอาสาสมัครไปจนสิ้นสุดโครงการตามระยะเวลาที่กำหนดเดิม (ปี 2558)  เพื่อดูว่า ประสิทธิผลของยาต้านไวรัสต่อการป้องกันและรักษาจะคงอยู่ได้นานแค่ไหน

Post 22957 Views