กิจกรรมวิชาการ.

ทีมวิจัยเรื่องหมอกควัน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. นำเสนอผลการวิจัยชี้ชัดปัญหาหมอกควันมาจากพื้นที่นอกเมือง และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนนอกเมืองเสียงต่อโรคมะเร็งเนื่องจากรับสารพิษในควันเยอะกว่าปกติ เผยเตรียมแผนติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นในทุกอำเภอหวังกระตุ้นชาวบ้านงดเผา

หลังจากที่หลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตหมอกควันไฟป่ามาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 สูงเกินค่ามาตรฐานมากกว่า 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ยาวนานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ซึ่งพบว่าหลายโรงพยาบาลมีผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ ที่เป็นผลจากการสูดเอามลพิษเข้าไปมากกว่าปกติ เข้าขอรับการรักษาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องหมอกควันไฟป่า โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะต่าง ๆ ใน มช. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สนับสนุนทุนวิจัยต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี จนได้ผลวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ทั้งข้อมูลเชิงพื้นที่ในการเกิดหมอกควันไฟป่า ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการรับสารพิษในหมอกควันเข้าไปทั้งที่มีอาการเฉียบพลัน และมีโอกาสเป็นโรคเรื้อรัง รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วย

          ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล นักวิจัยอาวุโสศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. กล่าวว่า ผลการวิจัยพบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่เขตนอกเมืองจะสูงกว่าพื้นที่ในเมือง 2-3 เท่า ตามแต่สภาพอากาศ ขณะที่เครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กมักติดตั้งในตัวเมืองของแต่ละจังหวัดเท่านั้น ทำให้ข้อมูลที่ได้ ไม่ได้มาจากแหล่งที่เกิดหมอกควันไฟป่าที่แท้จริง นอกจากนี้จากการตรวจปัสสาวะผู้ใหญ่และเด็กผู้ที่อาศัยนอกเมืองยังพบอีกว่าได้รับสารพิษจากการเผา หรือสาร PAH มากกว่าผู้ที่อยู่ในเมือง โดยเฉพาะจุดฮอทสปอทจะพบสารพิษมากกว่าถึง 13 เท่า

“เราได้ข้อมูลว่าในช่วงที่มีมลพิษขึ้น อาการทางเดินหายใจในเด็กที่อยู่นอกเมืองจะเพิ่มขึ้นเด่นชัดมาก แต่นี่คืออาการเฉียบพลัน แต่สิ่งที่เราไปตรวจปัสสาวะจะบ่งชี้ถึงโรคเรื้อรัง พบว่าสารที่เข้าไปสู่ในร่างกาย ที่เรียกว่า PAH เป็นสารที่มีการก่อมะเร็งได้ งานวิจัยจากสถาบันวิจัยฯ กับคณาจารย์คณะต่าง ๆ ที่มาร่วมงานก็บ่งชี้เลยว่าผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มลพิษสูง จะมีความเสี่ยงทั้งโรคเฉียบพลันและโรคเรื้อรัง คือเราตอบไม่ได้ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นโรคมะเร็งเมื่อไหร่ แต่ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งขึ้นในอนาคต” ดร.ทิพวรรณกล่าว

นักวิจัยอาวุโสศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. ยังระบุอีกว่าได้นำเสนอผลงานวิจัยแก่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยฯ พร้อมกับทำโครงการของบประมาณจากรัฐบาลในการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นในทุกอำเภอ และแก้ไขปัญหาหมอกควันระยะยาว 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในปี 2555 ถึงปี 2559 รวมถึงลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้านในระดับตำบลเรื่องภัยที่มากับหมอกควัน หวังเปลี่ยนกระบวนการทำมาหากินด้านการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาให้เห็นผลภายในปี 2559

“แผนปี 2559 เราน่าจะมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น คือถ้าตอนนี้เราไม่มีแผนตรงนี้เลย ทุกปีเราก็จะต้องเจอปัญหาแบบนี้ เพราะว่าห้ามเผาเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มันอั้นเอาไว้ เชื้อไฟมันยังอยู่ มันจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ แต่ว่าจะต้องมีการทำในระยะเร่งด่วน ควรจะมีต้นแบบให้มีการศึกษา เพราะว่าในหลายกลุ่มยังไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา นั่นคือเราจะไม่ได้แก้ปัญหา ถ้าในระดับผู้ใหญ่บ้านยังบอกว่านี่มันไม่ใช่ปัญหา การที่จะไปแก้ปัญหากับเขามันก็ไม่สำเร็จ” หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. กล่าว

          ด้าน ผศ.สุชาติ  เกียรติวัฒนเจริญ  คณะเทคนิคการแพทย์ และผู้วิจัยร่วม ในฐานะผู้ร่วมประดิษฐ์เครื่องวัดปริมาณฝุ่นหมอกควัน กล่าวว่า แต่เดิมเครื่องมือต่าง ๆ จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง จึงได้ร่วมมือกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุภชัย  ชัยสวัสดิ์ จากคณะแพทยศาสตร์ มช. ซึ่งมีความสามารถในการสร้างเครื่องทางการแพทย์ต่าง ๆ หวังติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นในทุกชุมชน ให้ชาวบ้านเห็นผลงานวิจัยเป็นตัวเลขที่ชัดเจน เพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลทั้งสุขภาพ และแก้ไขปัญหาการเผาป่าไปด้วยกัน

“เราตั้งใจประดิษฐ์เครื่องให้ราคาถูกลง และมีมาตรฐานเทียบเท่าเครื่องมือจากต่างประเทศ เทียบแล้วราคาถูกกว่าประมาณ 3 เท่า ส่วนประสิทธิภาพพบว่าของต่างประเทศจอแสดงผลต่าง ๆ มีติดกับตัวเครื่องขนาดเล็ก เราก็ได้เพิ่มจอแสดงผลให้มีขนาดใหญ่ และเพิ่มหน้าที่การทำงาน ให้มีสัญญาณไฟที่เป็นสี เพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่าย ทั้งนี้ หากถึงเกินมาตรฐาน ไฟก็จะเป็นสีส้ม สีแดงตามลำดับ เราสามารถวัดระยะในรัศมีประมาณ 2-3 กิโลเมตร และประมวลผลตลอด 24 ชั่วโมง” ผู้ร่วมประดิษฐ์เครื่องวัดปริมาณฝุ่นกล่าว

ผศ.สุชาติ ระบุทิ้งท้ายว่าแม้ตอนนี้เครื่องมือดังกล่าวจะยังมีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 แต่หากเอาไปใช้งานจริงจะต้องทำให้ค่าความคลาดเคลื่อนต่ำกว่านี้ โดยจะปรับปรุงแก้ไขระบบต่าง ๆ และเริ่มนำมาติดตั้งใน มช. ภายในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนการจดสิทธิบัตรหรือหากมีภาคธุรกิจสนใจ ทีมงานวิจัยยังต้องการผลเชิงวิชาการมากกว่าด้านการค้า โดยจะร่วมมือกับทางจังหวัดในการรับการสนับสนุนทุนเพื่อผลิตจำนวนมากไปให้ในส่วนราชการใช้ มากกว่าจะผลิตเพื่อการขาย

……………………………………………………………….…………………………………

ข่าวโดย หน่วยประชาสัมพันธ์ และบริการวิชาการ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Post 1275 Views