กิจกรรมวิชาการ.

ดร.สุรัตน์ หงษ์สิบสอง พร้อมด้วยคณะนักวิจัยจากหน่วยวิจัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ลงพื้นที่แจ้งผลการวิจัยแก่ชุมชนในโครงการ “การประเมินการรับสัมผัสสารมลพิษทางอากาศในเด็กนักเรียนอนุบาลจากจุดพื้นที่มีจุดความร้อนสูงในจังหวัดเชียงใหม่” (TUHPP) โดยมี ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล เป็นหัวหน้าโครงการฯ ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม และ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2556

งานวิจัยดังกล่าวได้ทำการประเมินการรับสัมผัสสารมลพิษทางอากาศโดยการตรวจวัดระดับฝุ่นพีเอ็ม10 สารพีเอเอชในฝุ่น และสาร 1-โอเอชพี ในปัสสาวะเด็กนักเรียนอนุบาลจำนวน 555 ตัวอย่าง จากพื้นที่ที่มีการเกิดมลพิษทางอากาศสูง ซึ่งได้ทำการเก็บข้อมูลในช่วงฤดูแล้ง เดือนมีนาคม 2555 ได้แก่ อ.เชียงดาว อ.อมก๋อย อ.แม่แจ่ม อ.พร้าว และ อ.เมืองเชียงใหม่

ผลจากการตรวจวัดปริมาณฝุ่นพีเอ็ม10 เฉลี่ย และจุดความร้อนในพื้นที่วิจัย พบว่าปริมาณฝุ่นพีเอ็ม10 ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม – 11 เมษายน 2555 ของทุกพื้นที่ มีปริมาณฝุ่นพีเอ็ม10 เฉลี่ยมากกว่าพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ ยกเว้นที่ อ.แม่แจ่ม โดยพื้นที่ที่ปริมาณฝุ่นเฉลี่ยสูงสุดคือ อ.พร้าว อยู่ที่ 135.28 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สำหรับข้อมูลจุดความร้อนสูงพบว่า อ.แม่แจ่มมี จุดความร้อนมากที่สุดคือ 556 จุด ตัวอย่างฝุ่นพีเอ็ม10 ที่เก็บจากพื้นที่ อ.พร้าว มีปริมาณสารพีเอเอชสูงที่สุด ส่วน อ.เชียงดาว มีระดับสาร 1-โอเอชพี ที่บ่งชี้การรับสารพีเอเอชสู่ร่างกายมากที่สุด รองลงมาคือ อ.อมก่อย อ.แม่แจ่ม อ.พร้าว และ อ.เมืองตามลำดับ นอกจากนี้ตัวอย่างปัสสาวะที่เก็บจากเด็กอนุบาลต่างเวลาและสถานที่ พบว่า อ.แม่แจ่ม มีปริมาณที่สูงกว่า อ.เมือง 4.5 เท่า

และจากการวิจัยยังพบอีกว่า พื้นที่ อ.แม่แจ่มเป็นพื้นที่ที่มีจุดความร้อนสูงที่สุด แต่พื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 10 และสารพีเอเอชสูงที่สุดได้แก่ อ.พร้าว ส่วนพื้นที่ที่พบสาร 1-โอเอชพีในปัสสาวะ มีความสัมพันธ์กันกับความเสี่ยงจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มาจากเผาในที่โล่ง ได้แก่ ไฟป่าและการเผาพื้นที่ทางการเกษตร ส่วนความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารมลพิษทางอากาศอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ระดับของสาร 1-โอเอชพีในปัสสาวะของกลุ่มตัวอย่างนอกเมืองสูงกว่าในเมือง 6-14 เท่า ซึ่งจากการสังเกตของนักวิจัย พบว่าพฤติกรรม ได้แก่ สุขอนามัยของคนแต่ละพื้นที่ (การดูแลความสะอาด พฤติกรรมการบริโภคและการปรุงอาหาร หรือการสูบบุหรี่) และสิ่งแวดล้อม (ที่อยู่อาศัยใกล้กับพื้นที่ที่เกิดการเผา) เป็นปัจจจัยร่วมที่ทำให้เกิดความแตกต่างของการรับสัมผัสสารมลพิษทางอากาศ

ทั้งนี้ หน่วยวิจัยของสถาบันฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาจร องค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อย ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านช่างเคิ่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาฮ่อง อ.แม่แจ่ม และผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยางเปา อ.อมก่อย รวมทั้งคณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน ต่างให้ความสนใจและสอบถามถึงผลการวิจัย รวมทั้งวิธีการป้องกันตนเองจากการรับสัมผัสสารมลพิษทางอากาศจากคณะนักวิจัยอีกด้วย

…………………………………………………………

หน่วยประชาสัมพันธ์ และบริการวิชาการ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Post 1977 Views