กิจกรรมวิชาการ.

IMG_4103

ศ. นพ. ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มลพิษทางอากาศ คือปัญหาใหญ่ที่เรามองไม่เห็น ถึงเวลาหรือยังที่เราจะตระหนักและป้องกัน
เนื่องจากจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา และตาก ประสบปัญหาหมอกควันเป็นประจำทุกปี โดยมีปัจจัยสำคัญคือ 1) การเผาในที่โล่งแจ้ง เช่น การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่ราบและที่ดอน การเผาขยะ การเผาพื้นที่ไร่หมุนเวียนในที่สูงเพื่อเตรียมการเพาะปลูก การเผาป่า เป็นต้น 2) สภาพภูมิประเทศ เช่น ตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ฯลฯ 3) สภาพภูมิอากาศและอุตุนิยมวิทยา และ 4) หมอกควันข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะมีการเผาป่าและเตรียมการเกษตรมากขึ้น ได้แก่ สาธารณรัฐเมียนม่าร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ปัญหาหมอกควันดังกล่าวมีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างมากและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดความสูญเสียต่อระบบนิเวศน์ทั้งทรัพยากรป่า ดิน น้ำ สัตว์ป่า รวมถึงระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค การท่องเที่ยวทุกรูปแบบทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์ของประเทศที่ติดลบในสายตาของชาวโลก

 


 

PM 10 กับ PM 2.5 ต่างกันอย่างไร
ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยเฉพาะค่าฝุ่นควันและการแจ้งเตือนแก่ประชาชนของประเทศไทยซึ่งดำเนินการโดยกรมควบคุมมลพิษนั้น แม้จะได้รับการพัฒนามาโดยตลอดแต่ยังคงประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยในปัจจุบันในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศยังใช้เฉพาะค่าฝุ่นควัน PM10 มาคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อแจ้งเตือนประชาชน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วฝุ่นควัน PM10 เป็นฝุ่นควันที่มีขนาดใหญ่ มักจะสูงขึ้นเป็นผลจากการก่อสร้าง การรื้ออาคาร การขุดเจาะบ่อหรือปรับพื้นดิน สร้างถนน ฝุ่นเหมือง เป็นต้น แต่ค่าฝุ่นควันที่แสดงถึงมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาในที่โล่งแจ้งได้ดีที่สุดคือค่าฝุ่นควัน PM2.5 ที่สำคัญกว่านั้นคือ ฝุ่นควัน PM2.5 สามารถแทรกซึมเข้าสู่ถุงลมปอดรวมทั้งระบบไหลเวียนของโลหิตได้ง่ายและในปริมาณที่มากกว่าฝุ่นควัน PM10 จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะเฉียบพลันและในระยะยาวรุนแรงกว่า PM10 เกือบ 2 เท่า ดังนั้นการใช้เฉพาะค่าฝุ่นควัน PM10 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศและแจ้งเตือนประชาชน จึงไม่สามารถสะท้อนระดับของมลพิษทางอากาศจากการเผาในที่โล่งแจ้งได้ไวและดีเท่ากับค่าฝุ่นควัน PM2.5 ส่งผลให้หน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชน ประเมินความรุนแรงของปัญหาหมอกควันจากการเผาในที่โล่งแจ้ง รวมทั้งประเมินผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนต่ำกว่าความเป็นจริง

ผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพได้อย่างไร

1. ผลกระทบต่อสุขภาพ “ระยะเฉียบพลัน”
ผลการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่า ทุก ๆ 10 มคก./ลบม. ของค่าฝุ่นควัน PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่กำลังเจ็บป่วยนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 และทำให้ประชาชนทั่วไปเสียชีวิตรายวันจากการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 0.4 ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยขนาดใหญ่ทั่วโลก (อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4-0.8) นอกจากนี้ยังพบว่าถ้าค่าฝุ่นควัน PM2.5 เฉลี่ยต่อวันสูงเกินค่ามาตรฐาน 25 มคก./ลบ.ม. ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด จะทำให้อัตราการเจ็บป่วยจากโรคร้ายแรงเฉียบพลันที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินหรือนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 30-40 ได้แก่ โรคอุบัติเหตุเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ปอดอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบ โรคหอบหืดกำเริบ เป็นต้น
2.ผลกระทบต่อสุขภาพ “ระยะยาว”
ผลการศึกษาพบว่าทุก ๆ 10 มคก./ลบม. ที่เพิ่มขึ้นของค่าฝุ่นควัน PM2.5 เฉลี่ยต่อปี ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 1.03 ปี มีอัตราการเสียชีวิตรายปีสูงขึ้นร้อยละ 4-6 เจ็บป่วยเป็นมะเร็งปอดสูงขึ้นร้อยละ 8-14 และในปี ค.ศ. 2015 องค์การอนามัยโลกระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศสูงถึงร้อยละ 6.8-7.3 ของการเสียชีวิตทั้งหมด หรือราวกว่า 30,000 ราย ซึ่งภัยจากมลพิษทางอากาศนอกอาคารถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและความทุพพลภาพของมวลมนุษยชาติลำดับที่ 5 รองจากความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ น้ำตาลในเลือดสูง และไขมันในเลือดสูง ผลการศึกษาล่าสุดพบว่าหากประเทศไทยสามารถลดค่าฝุ่นควัน PM2.5 ลงได้ร้อยละ 20 จะทำให้อัตราการเสียชีวิตของประชาชนลดลงได้ถึงร้อยละ 22

ในอนาคต การตรวจวัดค่าฝุ่นควันในอากาศและการแจ้งเตือนแก่ประชาชนของประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนาให้สามารถวัดค่า PM10 และ PM2.5 ได้ทุกสถานี และต้องกระจายให้สามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งในเมืองและในชนบทรอบนอกด้วย แต่คงไม่สามารถดำเนินการได้โดยง่ายเนื่องจากปัญหาหลายประการ ได้แก่
1.ขีดจำกัดด้านงบประมาณทำให้สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศส่วนใหญ่ในประเทศไทยสามารถตรวจวัดได้เฉพาะค่า PM10 แต่ไม่สามารถตรวจวัดค่า PM2.5 ได้ แม้ว่าในปัจจุบันหลายจังหวัดจะได้รับการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดค่า PM2.5 ได้ แต่ยังจำกัดเฉพาะในอำเภอเมืองหรือในตัวเมืองใหญ่เท่านั้น ซึ่งมีความเชื่อถือได้เฉพาะในพื้นที่แคบ ๆ โดยรอบสถานีตรวจวัดเท่านั้น ไม่สามารถสะท้อนคุณภาพอากาศของพื้นที่ไกลๆ หรือพื้นที่อำเภออื่น ๆ รอบนอก
2.การติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่สามารถวัดค่า PM10 และ PM2.5 ได้ให้ครบทุกจังหวัดตามแผนของกรมควบคุมมลพิษต้องใช้งบประมาณสูงเนื่องจากราคาต่อเครื่องประมาณหลายล้านบาท และต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 2 ปีจึงจะติดตั้งได้ครบทุกจังหวัด ซึ่งนอกจากจะไม่ทันต่อสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นตลอดเวลาแล้ว ยังไม่สามารครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ที่อยู่นอกตัวเมืองใหญ่ได้ หากต้องการติดตั้งสถานีตรวจวัดดังกล่าวให้ครบทุกอำเภอในประเทศไทยในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันนี้อาจจะทำได้ยากมาก ไม่ต้องกล่าวถึงการติดตั้งให้ครบทุกตำบลซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน
3.การแจ้งเตือนประชาชนเพื่อให้สามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องตามสถานการณ์ของภาวะมลพิษทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันใช้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศในรอบ 24 ชั่วโมงเพียงวันละ 1 ครั้ง ไม่สามารถสะท้อนสภาพปัญหามลพิษทางอากาศที่เป็นปัจจุบันได้ ต้องมีการพัฒนาให้สามารถแจ้งเตือนแก่ประชาชนได้ตลอดเวลา


 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศติดตั้งในทุกตำบลในจังหวัดเชียงใหม่

           จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีแผนที่จะดำเนินการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ใช้เซนเซอร์ขนาดเล็กพัฒนาโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสามารถตรวจวัดปริมาณฝุ่นควัน PM10, PM2.5 และ PM1.0 แบบวินาทีต่อวินาที (real time) ให้ครบ 205 ตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะทำการติดตั้งที่องค์กรปกครองสวนท้องถิ่น แห่งละ 1 เครื่อง โดยทำการรวบรวมข้อมูลปริมาณฝุ่นควัน PM10, PM2.5 และ PM1.0 เก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ พร้อมทั้งคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศจากจุดตรวจวัดดังกล่าวทุกตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งรายงานดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของชาวเชียงใหม่รายชั่วโมงจากจุดตรวจวัดทุกตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ ทางเว็บไซต์และ Application ในโทรศัพท์มือถือ และแปลผลดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของชาวเชียงใหม่และแจ้งเตือนประชาชนในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศเป็นรายชั่วโมง ทั้งนี้จะแจ้งหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างทันเหตุการณ์ โดยทั้งหมดนี้อาศัยข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศในการสื่อสารและส่งเสริมการปลูกจิตสำนึกให้ชุมชน เพื่อให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการลดการเผาขยะ และช่วยกันสอดส่องและเฝ้าระวังชุมชนของตัวเอง

……………………………………………………………………..

ข่าวโดย หน่วยประชาสัมพันธ์ และบริการวิชาการ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Post 6786 Views