กิจกรรมวิชาการ.

222412

วันนี้ (19 พฤษภาคม 2563) สถาบันวิจัยวิทยาศาตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยหนึ่งที่อยู่ในเครือข่ายการวิจัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV Prevention Trial Network; HPTN) สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยถึงโครงการวิจัยทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ ที่สามารถออกฤทธิ์ได้นานกว่าสองเดือน  ภายใต้ชื่อโครงการ HPTN 083 ได้ทำการศึกษาเพื่อตอบคำถามว่า การใช้ยาต้านไวรัสคาโบทิกราเวียร์ ชนิดฉีด 1 ครั้งทุก 8 สัปดาห์ จะสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง ได้อย่างน้อยเท่ากับวิธีการกินยาต้านไวรัสทีดีเอฟ/เอฟทีซี (TDF/FTC) ซึ่งประกอบด้วยยาต้านไวรัสสองชนิด ได้แก่ ยาเอ็มทริซิทาบีนและยาทีโนโฟเวียร์ ไดโซพรอกซิล ฟูมาเรต วันละ 1 เม็ด หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ยาต้านไวรัสป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ หรือเพร็พ (PrEP) หรือไม่  ซึ่งโครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ภายใต้เครือข่ายการวิจัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV Prevention Trial Network; HPTN) โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 4,570 คน จากสถาบันการวิจัยชั้นนำ 43 แห่งใน 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ไทย บราซิล เปรู เวียดนาม อาร์เจนตินา และแอฟริกาใต้

โดยจากข้อมูลเบื้องต้นที่มีการแถลงเป็นข่าวดังไปทั่วโลกในวันที่ 18 พฤษภาคม 63 ที่ผ่านมา พบว่า ยาฉีดคาโบทิกราเวียร์สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง ได้มากกว่ายากินทีดีเอฟ/เอฟทีซี กว่า 3 เท่า หรือ 69% โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในโครงการรวม 50 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อฯในกลุ่มยากินทีดีเอฟ/เอฟทีซีจำนวน 38 ราย (คิดเป็นอุบัติการณ์การติดเชื้อใหม่ 1.21%) และพบผู้ติดเชื้อฯ ในกลุ่มฉีดยาคาโบทิกราเวียร์ จำนวน 12 ราย (คิดเป็นอุบัติการณ์ 0.38%)

210571

อย่างไรก็ตาม ทั้งยาฉีดคาโบทิกราเวียร์ และยากินทีดีเอฟ/เอฟทีซี นับได้ว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้สูงมาก และยังมีความปลอดภัยสูงมากเช่นเดียวกัน  ทั้งนี้ ยาฉีดคาโบทิกราเวียร์เป็นยาที่ออกฤทธิ์ระยะยาว สามารถฉีดทุก 8 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับยากินทีดีเอฟ/เอฟทีซี ชนิดเม็ดที่ต้องไม่ลืมที่จะรับประทานติดต่อกันทุกวัน เพื่อให้ได้ผลสูงสุดในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จึงน่าจะเป็นทางเลือกเพิ่มเติมที่สำคัญอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี สำหรับผู้ที่ไม่ชอบทานยาเม็ด หรือมักจะลืมกินยาบ่อยๆ หรือผู้ที่มีอาการข้างเคียงจากยาที่อาจมีผลต่อไตจากยาต้านไวรัสชนิดกินทีดีเอฟ/เอฟทีซี ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการป้องกันเอชไอวีที่สำคัญในการช่วยยุติปัญหาเอชไอวีและเอดส์ให้ได้ ภายในปี ค.ศ. 2030 ต่อไป

สำหรับประเทศไทย มีสถาบันวิจัยชั้นนำ 3 แห่ง ได้แก่ คลินิกพิมาน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย, และคลินิกชุมชนสีลม @ทรอปเมด ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ได้เข้าร่วมวิจัยในโครงการ HPTN 083 โดยได้รับอาสาสมัครชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง เข้าร่วมโครงการ รวม 553 ราย จากจำนวนทั้งหมด 4,570 ราย ซึ่งจะได้มีการแจ้งรายละเอียดและผลวิจัยให้ผู้ร่วมวิจัยต่อไป

อ.ขวัญ

ศาสตราจารย์นายแพทย์ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยแห่งหนึ่งในโครงการ HPTN 083 ได้กล่าวยินดีต่อความก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่งของการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เพราะถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการป้องกันที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การยุติปัญหาเอชไอวีในอนาคต และนับเป็นความภูมิใจของสถาบันฯ ที่ได้เข้าร่วมในการศึกษานี้

 

 

 

 

 

 

 

aj suwat

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ และเป็นหัวหน้าทีมโครงการวิจัย HPTN 083 ที่คลินิกพิมาน ซึ่งเป็นคลินิกวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นหน่วยวิจัยหนึ่งภายใต้เครือข่ายการวิจัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV Prevention Trial Network; HPTN) ได้แสดงความยินดีต่อการเปิดเผยผลการวิจัยดังกล่าว ปัจจุบันประเทศไทย ยังพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ปีละหลายพันคน โดยเฉพาะในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ในกลุ่มเกย์และสาวประเภทสอง ผู้ใช้ยาเสพติด เป็นต้น ถึงแม้จะมีวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอไชไอวีที่หลากหลาย ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง การใช้ถุงยางอนามัย รวมถึงการกินยาต้านไวรัสเพื่อการป้องกันล่วงหน้า เรียกย่อ ๆ ว่า PrEP (Pre-exposure Prophylaxis)  แต่ก็ยังตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกปีละหลายล้านคน เนื่องจากผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงบางรายไม่นิยมใช้ถุงอนามัย ไม่ชอบยากินเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพราะจะต้องกินยาติดต่อกันทุกวัน บางรายมักจะลืมกินยาบ่อย ๆ หรือมีความความผิดปกติของการทำงานของไต ทำให้การป้องกันไม่ได้ผลเท่าที่ควร ผลการวิจัยเกี่ยวกับยาฉีดคาโบทิกราเวียร์ที่พบว่า ยาฉีดตัวนี้สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธภาพไม่แตกต่างจากยาชนิดกินในครั้งนี้ จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญเพิ่มเติมสำหรับผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามที่ได้กล่าวไปแล้ว จะได้เลือกวิธีป้องกันการติดเชื้อที่ปฏิบัติได้สะดวกขึ้น ตามความชอบ หรือเหมาะสมกับแต่ละคน ซึ่งจะนำไปสู่การลดการติดเชื้อเอชไอวีและยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยและทั่วโลกภายในปี คศ. 2030

ในช่วง 10 ปีที่ผ่าน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีส่วนเข้าร่วมเป็นหน่วยวิจัยระดับนานาชาติในโครงการวิจัยเพื่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีขนาดใหญ่ก่อนหน้านี้อีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการวิจัย iPrEx เป็นการศึกษาที่พบว่า ยาต้านไวรัสขนิดกิน TDF/FTC หรือ PrEP มีประสิทธผลในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีล่วงหน้าในผู้ที่มีความสี่ยงสูง ในปี พศ. 2553 และโครงการ HPTN 052 เป็นการศึกษาที่พบว่า การกินยาต้านไวรัสทันทีในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่ต้องรอให้ภูมิต้านทานของร่างกายหรือระดับเม็ดเลือดขาว CD4 ลดลง จะช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อเอชไอวีในคู่ที่มีผลเลือดต่างมากกว่า 96% และยังช่วยลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ติดเชื้อเมื่อเทียบกับการเริ่มยาต้านไวรัสช้าหรือมีระดับภูมิต้านทานต่ำแล้ว ในปี 2554

ทีมวิจัยโครงการ HPTN 083 ทั่วโลก ได้กล่าวแสดงความชื่นชมและขอบคุณอย่างยิ่ง ในความเสียสละ ความทุ่มเท และความร่วมมือร่วมใจ ของอาสาสมัครชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองทุกท่าน คณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชนที่ให้คำปรึกษา และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของโครงการฯ รวมถึงทีมนักวิจัยทุกคนภายใต้เครือข่ายการวิจัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV Prevention Trial Network; HPTN) ที่มีส่วนร่วมในการศึกษาพัฒนาทางเลือกใหม่ในการป้องกันเอชไอวีด้วยยาฉีดคาโบทิกราเวียร์ให้ประชาชนทั่วโลกรวมทั้งชาวไทย  ซึ่งปัจจุบันผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั่วโลกรวมถึงคนไทยสามารถเข้าถึงยากินต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อฯ ได้แล้ว และน่าจะสามารถเข้าถึงยาฉีดตัวใหม่นี้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้  ทั้งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอชไอวีในปี พ.ศ. 2573 หรือ ค.ศ.2030 ในที่สุด

รายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้จาก :   https://bit.ly/2ZfQrDy

………………………………………………………..

ข่าวโดย หน่วยประชาสัมพันธ์  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ

Post 2597 Views