เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 มูลนิธิการศึกษาไทย และบริษัทพูนพูนด้วยใจยินดี จำกัด ร่วมกับ ผศ.ดร.สุรัตน์ หงษ์สิบสอง หัวหน้าสำนักวิชาการวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ พร้อมคณะนักวิจัยและนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาร่วมจัดการอบรม จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การใช้ชุดทดสอบสารตกค้างในวัตถุดิบอาหารที่ใช้ในอาหารกลางวันโรงเรียน” ณ ห้องประชุมอาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ครูผู้รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันจากโรงเรียนต่าง ๆ ในการใช้ชุดทดสอบสารตกค้าง เพื่อวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารสำหรับนักเรียน อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ชุดทดสอบที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างทีมงานนักวิจัยจากสำนักวิชาการวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัย South China Agricultural University ประเทศจีน พร้อมทั้งมุ่งนำผลลัพธ์การใช้งานไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายในอนาคต ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการอบรมจำนวน 21 คน จากโรงเรียนบ้านปางไฮ โรงเรียนบ้านบ่อแก้ว โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 7 โรงเรียนศรีสังวาลเชียงใหม่ สำงานสาธรณสุขจังหวัดลำพูน อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จากสำนักวิชาการวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรรมการผู้จัดการบริษัทพูนพูนด้วยใจยินดีจำกัด
ในการอบรม ได้มีการบรรยายเกี่ยวกับหลักการทำงานและความสำคัญของการเฝ้าระวังสารตกค้างในอาหาร รวมทั้งสาธิตการใช้งานและให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกปฏิบัติจริงโดยใช้วัตถุดิบที่คณะครูแต่ละโรงเรียนที่เข้าร่วมนำมาด้วยตนเอง เช่น ผักสด เนื้อหมู เนื้อไก่ และไส้กรอก ชุดทดสอบที่แนะนำมีทั้งหมด 11 ชุด เช่น ชุดทดสอบสำหรับเชื้อราที่รับประทานได้, ชุดทดสอบตรวจหาสารตกค้างของยาฆ่าแมลง, ชุดทดสอบควิโนโลน,ชุดทดสอบกรดบอริก (Borax) และชุดทดสอบฟอร์มาลดีไฮด์ (ฟอร์มาลิน) และยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สรุปผลการฝึกปฏิบัติ และวางแนวทางการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้จริงในการดูแลคุณภาพอาหารกลางวันของโรงเรียน โดยมีคุณมารุต จาติเกตุ เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทย ให้เกียรติเป็นผู้กล่าวเปิดและปิดงาน พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยอาหารสำหรับนักเรียน
การอบรมครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการยกระดับความตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยอาหารในโรงเรียน และเสริมสร้างทักษะให้แก่ครูผู้รับผิดชอบเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสารตกค้างในวัตถุดิบอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ








