Non-NIH, โครงการวิจัย.


โครงการวิจัย HIVNAT 175: Bone-D Study


ชื่อโครงการวิจัย

สุขภาพกระดูกและระดับวิตามินดีในเด็กและวัยรุ่นชาวเอเชียที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาที่ควบคุมปริมาณไวรัสได้แล้ว

ชื่อย่อ หรือ รหัส

ฮีฟแนท 175: โบน-ดี

เครือข่ายวิจัย

ฮีฟแนท

หัวหน้าโครงการวิจัย

อาจารย์แพทย์หญิงทวิติยา สุจริตรักษ์

หัวหน้าโครงการวิจัยร่วม

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวิรัต ศิริสันธนะ

แพทย์หญิงลินดา เอื้อไพบูลย์

สถานที่วิจัย

ประเทศไทย 3 แห่ง ดังนี้

  1. ศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่างไทย ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์เพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ (ฮีฟแนท) สภากาชาดไทย กรุงเทพฯ
  2. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
  3. คณะแพทยศาสตร์และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ประเทศอินโดนีเซีย 1 แห่ง คือ Cipto Mangunkusumo Hospital, Jakarta

หน่วยงานผู้สนับสนุนทุนวิจัย

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแอมฟาร์-ทรีทเอเชีย ผ่านทางทุนสนับสนุนการวิจัยวิฟ เฮลท์แคร์

รูปแบบการวิจัย

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบภาคตัดขวาง มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะความหนาแน่นมวลกระดูกต่ำ (low BMD)ในเด็กและวัยรุ่นชาวเอเชียที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาที่ควบคุมปริมาณไวรัสได้แล้วหลังได้รับยาต้านไวรัส นอกจากนี้ การศึกษานี้ยังมีการประเมินปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อิสระกับระดับวิตามินดีกับกระบวนการอักเสบในร่างกายและความผิดปกติของการเสื่อมสลายกระดูกเก่าและการสร้างกระดูกใหม่ในเด็กและวัยรุ่นกลุ่มนี้อีกด้วย

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

วัตถุประสงค์หลัก

วัตถุประสงค์ที่ 1: เพื่อหาความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะความหนาแน่นมวลกระดูกต่ำ (low BMD) ซึ่งได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงทั่วไป และ ปัจจัยเสี่ยงที่มาจากการติดเชื้อเอชไอวี ในเด็กและวัยรุ่นชาวเอเชียที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาที่ควบคุมปริมาณไวรัสได้แล้วหลังได้รับยาต้านไวรัส

วัตถุประสงค์ที่ 2: เพื่อประเมินความสัมพันธ์อิสระของระดับวิตามินดีกับภาวะการอักเสบในร่างกาย และความผิดปกติของการเสื่อมสลายกระดูกเก่า และการสร้างกระดูกใหม่ (bone remodeling) ในเด็กและวัยรุ่นชาวเอเชียที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาที่ควบคุมปริมาณไวรัสได้แล้วหลังได้รับยาต้านไวรัส

วัตถุประสงค์รอง

วัตถุประสงค์ที่ 1: เพื่อหาความชุกของการขาดวิตามินดี (ระดับ 25 [OH]D น้อยกว่า 20 นก./มล.) ในเด็กและวัยรุ่นชาวเอเชียที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาที่ควบคุมปริมาณไวรัสได้แล้วหลังได้รับยาต้านไวรัส

วัตถุประสงค์ที่ 2: เพื่อหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องของการขาดวิตามินดีในเด็กและวัยรุ่นชาวเอเชียที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาที่ควบคุมปริมาณไวรัสได้แล้วหลังได้รับยาต้านไวรัส

จำนวนอาสาสมัครที่รับ (ทั้งโครงการ/ที่สถาบันวิจัยฯ)

เด็กและวัยรุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวีแต่กำเนิดที่มีอายุระหว่าง 10 ถึง 18 ปีที่กำลังได้รับการดูแลโรคติดเชื้อเอชไอวี ณ หน่วยวิจัยแห่งใดแห่งหนึ่งของ TREAT Asia Pediatric HIV Observational Database (TApHOD) ที่ควบคุมปริมาณไวรัสได้แล้วหลังได้รับยาต้านไวรัส กล่าวคือมีปริมาณไวรัสในเลือดน้อยกว่า 400 ก็อปปี้/มล. ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนวันตรวจคัดกรอง จำนวน 400 คน

สำหรับหน่วยวิจัยคณะแพทยศาสตร์และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ รับอาสาสมัครจำนวน 120 คน

ปี พ.ศ. ที่เริ่มดำเนินงาน

เดือนธันวาคม พ.ศ. 2556

ปี พ.ศ. ที่คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้น

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2558

ความสำคัญ

ภาวะความหนาแน่นมวลกระดูกต่ำ (low BMD) ถือเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของภาวะแทรกซ้อนระยะยาวในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาที่กำลังรับยาต้านไวรัส เนื่องจากการสะสมแร่ธาตุในกระดูกจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น และช่วงที่มีการสร้างกระดูกสูงสุดมักเกิดขึ้นเมื่ออายุ 18 ปี ดังนั้นการสูญเสียส่วนประกอบของมวลกระดูก ในช่วงเวลานี้อาจนำไปสู่ผลเสียที่ร้ายแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหักเมื่ออายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามความชุกและปัจจัยเกี่ยวข้องกับภาวะความหนาแน่นมวลกระดูกต่ำนั้น ยังไม่ได้รับการศึกษามากนักในประชากรกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด

ภาวะขาดวิตามินดีพบได้บ่อยในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวีที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากร แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจากประเทศเหล่านี้อาจไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด เนื่องจากมีความแตกต่างของลักษณะทางภูมิศาสตร์ อาหาร และรูปแบบการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ มีการรายงานว่าภาวะขาดวิตามินดีถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะการอักเสบเรื้อรังในร่างกายและความผิดปกติของการเสื่อมสลายกระดูกเก่าและการสร้างกระดูกใหม่ (bone remodeling) ในกลุ่มประชากรทั่วไป อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่มีการศึกษามากนักถึงความเกี่ยวข้องกันของระดับวิตามินดีกับภาวะการอักเสบรวมถึงกระบวนการเสื่อมสลายกระดูกเก่าและการสร้างกระดูกใหม่ (bone remodeling) ที่ผิดปกติในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและวัยรุ่น

การศึกษานี้จะให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของภาวะความหนาแน่นมวลกระดูกต่ำ (low BMD) ในเด็กและวัยรุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด ได้แก่ ประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้และที่สำคัญคือ การศึกษานี้จะทำการศึกษาถึงความเกี่ยวข้องกันของระดับวิตามินดีกับภาวะการอักเสบรวมถึงความผิดปกติของกระบวนการเสื่อมสลายกระดูกเก่าและการสร้างกระดูกใหม่ (bone remodeling) ในประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งถือเป็นคำถามวิจัยที่สำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งต้องการการศึกษาเฉพาะในเชิงลึกอย่างเร่งด่วน

ดังนั้น การศึกษานี้จะสามารถตอบคำถามวิจัยที่สำคัญ ขยายองค์ความรู้ให้กว้างขวาง และก่อให้เกิดความสนใจของแพทย์ต่อภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่สำคัญในเด็กและวัยรุ่นที่จะต้องเติบโตไปพร้อมกับเอชไอวี

Post 1272 Views