Non-NIH, โครงการวิจัย.


โครงการวิจัย TApHOD


ชื่อโครงการวิจัย

ฐานข้อมูลเชิงสังเกตเกี่ยวกับการรักษาเอชไอวีในเด็กในภูมิภาคเอเชีย

ชื่อย่อ หรือ รหัส

แทปพอด

เครือข่ายวิจัย

ทรีท เอเชีย

หัวหน้าโครงการวิจัย

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวิรัต ศิริสันธนะ

หัวหน้าโครงการวิจัยร่วม

แพทย์หญิงลินดา เอื้อไพบูลย์

สถานที่วิจัย

18 หน่วยวิจัยใน 7 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม

หน่วยงานผู้สนับสนุนทุนวิจัย

  • แอมฟาร์ มูลนิธิเพื่อการวิจัยโรคเอดส์
  • สมาคมโรคเอดส์
  • สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา
  • The Kirby Institute ออสเตรเลีย

รูปแบบการวิจัย

การศึกษาเชิงสังเกตุซึ่งทำการศึกษาในเด็กและวัยรุ่นที่ติดเชื้อเอชไอวี

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อศึกษาการดำเนินโรคของเอชไอวีในเด็ก รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างการเข้าถึงการรักษากับการดำเนินโรค
  2. เพื่อพัฒนาความสามารถในการเก็บข้อมูลเอชไอวีทางคลินิกให้มีรูปแบบที่เป็นระบบและมีมาตรฐานมากขึ้น
  3. เพื่อติดตามผลการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และการใช้ยาในการป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาส
  4. เพื่อติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยเด็กติดเชื้อเอชไอวี
  5. เพื่อช่วยเหลือในด้านการประเมินการรักษาใหม่ สำหรับเอชไอวีในเด็กในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

จำนวนอาสาสมัครที่รับ (ทั้งโครงการ/ที่สถาบันวิจัยฯ)

ศูนย์วิจัยทางคลินิกที่เข้าร่วมจะรับอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการและติดตามอาสาสมัครที่เข้าข่ายและได้รับการดูแลรักษาด้านเอชไอวี ทั้งนี้มีจำนวนตัวอย่างขั้นต่ำสุด 50 คนในแต่ละหน่วยวิจัย โดยไม่ได้กำหนดจำนวนอาสาสมัครสูงสุดไว้ นอกเหนือจากทางทรีตเอเชียจะอนุมัติจำนวนใหม่อีกครั้ง

สำหรับคณะแพทยศาสตร์และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ รับอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 303 คน

ปี พ.ศ. ที่เริ่มดำเนินงาน

เดือนเมษายน พ.ศ. 2550

ปี พ.ศ. ที่คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้น

ไม่ระบุ

ความสำคัญ

ในปี 2549 UNAIDS ประมาณการณ์ว่าทั่วโลกมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่มีการติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 2.3 ล้านรายและ 380,000 รายได้เสียชีวติจากเอชไอวี ผลการศึกษาทางระบาดวิทยาได้แสดงให้เห็นว่า การดำเนินโรคหลังติดเชื้อเอชไอวีของเด็กและผู้ใหญ่นั้นแตกต่างอย่างมาก ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เด็กมีระบบภูมิคุ้มกันของเด็กที่ยังมีพัฒนาการไม่เต็มที่ (กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาการ)จึงมีประสิทธิภาพต่ำกว่า เด็กมีการดำเนินโรคที่รวดเร็วกว่า และการดำเนินโรคทุกระยะจะสั้นกว่า หากไม่ได้รับการรักษาใดๆ เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาส่วนใหญ่จะมีอาการที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่อายุประมาณ 6 เดือน

การดำเนินโรคของเอชไอวีในเด็กส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับการรักษามักจะสั้นและรวดเร็ว มีเด็กจำนวนน้อยรายที่จะรอดชีวิต จากการศึกษาในภูมิภาคที่มีทรัพยากรจำกัดชี้ให้เห็นว่า ทารกติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่ได้รับการรักษานั้น มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 45 ที่อายุ 2 ปีและร้อยละ 62 ที่อายุ 5 ปี ทั้งนี้สาเหตุส่วนใหญ่ของการเสียชีวิตในวัยต้นชองชีวิตคือ การวินิจฉัยภาวะติดเชื้อเอชไอวีที่ล่าช้า ภาวะทุพโภชนาการ และอัตราการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรงในระบบหายใจและทางเดินอาหาร

ขบวนการเผาผลาญยาในเด็กซึ่งมีความแตกต่างกันตามอายุทำให้การกระจายยาในร่างกายและการขับยาออกจากร่างกายแตกต่างกันตามอายุของเด็ก ข้อมูลทางเภสัชจลนศาสตร์ในเด็กเล็ก ยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน และมีความแปรปรวนมากกว่าผู้ใหญ่ทั้งในเด็กรายเดียวกัน(วัดต่างเวลา) และระหว่างเด็กแต่ละราย สูตรยาใหม่ๆสำหรับใช้ในรักษาเด็กเล็กและทารกยังเป็นที่ความต้องการ การศึกษาวิจัยจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะนำเอาข้อมูลที่ได้ไปขยายผล เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในภูมิภาคที่มีทรัพยากรจำกัดต่อไป

การรักษาด้วยยาต้านไวรัสหลายชนิดร่วมกันได้ทำให้อัตราการป่วยและเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวีลดลงเป็นอย่างมาก ในทุกแห่งที่มีการใช้ยาต้านไวรัสหลายชนิด พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตต่ำลง เช่นเดียวกันกับอุบัติการณ์ของการเข้านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และอุบัติการณ์การติดเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ ก็ลดลงด้วยแม้กระทั่งในเด็ก

จุดมุ่งหมายหลักของยาต้านไวรัสหลายชนิดร่วมกันคือการป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางคลินิกของการติดเชื้อเอชไอวีและทำให้อัตราการรอดชีวิตของเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีสูงขึ้น โดยมีความคาดหวังว่าเด็กเหล่านี้จะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี มีการทำลายและความเสื่อมของระบบภูมิคุ้มกันน้อยลงตลอดจนมีการฟื้นตัวของระบบภูมิคุ้มกันที่เสียไป ซึ่งจะทำให้การติดเชื้อฉวยโอกาสต่างๆลดลงด้วย การยับยั้งการแบ่งตัวของเชิ้อเอชไอวี จะส่งผลให้การดำเนินโรคช้าลง และเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วย ทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กดีขึ้น

ปัจจุบันสำหรับหลายประเทศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคมีแหล่งทรัพยากรที่กว้างขวางในการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ขณะที่ในประเทศอื่นๆ ยังมีความจำกัดอยู่มาก ตัวอย่างเช่น ในประเทศออสเตรเลีย ประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส โดยกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับยาต้านไวรัส 3 ชนิดหรือมากกว่าร่วมกัน ในทางตรงข้าม ในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งมีสัดส่วนของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสน้อยกว่าร้อยละ 1 อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆนี้ก็พบว่าอัตราการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสูงขึ้นมากในบางประเทศและดูเหมือนว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ยาต้านไวรัสส่วนใหญ่ได้ถูกพิจารณาให้มีราคาถูกลง และหาได้ง่ายขึ้นและมีกองทุนโลก (Global fund) ที่ให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษา การติดเชื้อเอชไอวี วัณโรคและมาลาเรียอีกด้วย

ผลที่ตามมาของการมียาต้านไวรัสสำหรับเด็กใช้อย่างกว้างขวางในกลุ่มประเทศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ประการแรกคือต้องมีการให้การศึกษาสำหรับบุคลากรทางสาธารณสุขเกี่ยวกับการให้ยาและการติดตามการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ประการที่สองคือต้องพัฒนาความสามารถในการตรวจทางห้องปฏิบัติการในการวินิจฉัยเอชไอวี ในการบอกระยะของการติดเชื้อและในการติดตามผลการรักษา ประการที่สามคือเรื่องการติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัยและประสิทธิผลของสูตรการรักษาต่างๆที่ใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ประการที่สี่คือ ต้องการการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบในการประเมินภาพรวมของผลการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งประการสุดท้ายนี้รวมถึงการเก็บข้อมูลทางคลินิกของเด็กที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสและตัวชี้วัดการดำเนินโรคต่างๆและการยอมรับการรักษาด้วย

ขณะนี้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเด็ก ตัวชี้วัดระยะของการติดเชื้อเอชไอวีและทางเลือกในการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสำหรับเด็กในประเทศต่างๆในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกยังมีอยู่จำกัด ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญต่อการประกันคุณภาพซึ่งมีความจำเป็นในการพัฒนาการดูแลรักษาเด็กติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายของการเก็บข้อมูลในแต่ละคลินิกทั้งในประเทศเดียวกันและแตกต่างกันไปในประเทศต่างๆ บางแห่งก็มีการพัฒนาระบบเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใช้ ในขณะที่บางแห่งยังต้องการความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาระบบเก็บข้อมูลทางคลินิก

เพิ่อจะตอบคำถามเช่นเดียวกับการศึกษาในผู้ใหญ่ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเครือข่ายทรีตเอเชียได้พัฒนา the TREAT Asia HIV Observational Database (TAHOD) ขึ้นมาในปีพศ. 2546 โดย TAHOD เป็นการศึกษาเชิงสังเกตแบบไปข้างหน้าที่ทำในหลายหน่วยวิจัยในผู้ป่วยเอชไอวีเพื่อศึกษาธรรมชาติของโรคในผู้ที่ได้และไม่ได้รับการรักษา มีหน่วยวิจัย 17 แห่งใน 13 ประเทศที่เข้าร่วม และมีผู้ป่วยภายใต้การสังเกตกว่า 3000 ราย ส่วนใหญ่กำลังได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส

ทั้ง TAHOD และโครงการคล้ายๆกันในประเทศออสเตรเลียที่ชื่อว่า AHOD ได้แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเก็บข้อมูล โดยกำหนดตัวแปรที่ต้องการรวบรวมจากคลินิกหลายๆแห่งมารวมกันเพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลที่มีประโยชน์

ฐานข้อมูลเชิงสังเกตการณ์เกี่ยวกับการรักษาเอชไอวีในเด็กในภูมิภาคเอเชีย (The Therapeutics Research, Education, and AIDS Training in Asia: Treat Asia) Pediatric HIV Observational Database (TApHOD) ที่คล้ายคลึงกัน ได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลทางคลินิกของเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากประเทศต่างๆในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก

Website ของโครงการ

http://www.amfar.org/around-the-world/treat-asia/publications/treat-asia-report/

Post 1794 Views