กิจกรรมวิชาการ.

ผอ.

ศ. นพ. ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในทุกๆปีตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงปลายเดือนเมษายน ภาคเหนือตอนบน จะมีภัยคุกคามประจำฤดูกาล ซึ่งมักจะเรียกกันว่า เป็นฤดูกาลที่ 4 ที่นอกเหนือจากฤดูทางภูมิศาสตร์ ที่มีฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน แล้วจะมีฤดูที่ 4 เพิ่มขึ้นมาอีก คือ “ฤดูหมอกควัน” ซึ่งช่วงเดือนดังกล่าว จะทำให้สภาวะอากาศ ขมุกขมัว ตลอดวัน ทัศนวิสัย หรือการมองเห็นไม่ดี บางวันเลวร้ายมาก บางครั้งเครื่องบินไม่สามารถลงจอดได้ ต้องบินกลับ รถยนต์ต้องเปิดไฟหรี่ขณะวิ่งบนถนน ส่งผลให้ ในภาคเหนือมีผลกระทบด้านสุขภาพ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก นักท่องเที่ยวขาดหาย
ซึ่งสาเหตุก็คือ การเผาในที่โล่งแจ้ง เช่น การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่ราบและที่ดอน การเผาขยะ การเผาพื้นที่ไร่หมุนเวียนในที่สูงเพื่อเตรียมการเพาะปลูก การเผาป่า ประกอบกับสภาพภูมิประเทศ เช่น ตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ และหมอกควันข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะมีการเผาป่าและเตรียมการเกษตรมากขึ้น ปัญหาหมอกควันดังกล่าวมีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างมากและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ศ. นพ. ขวัญชัย กล่าวต่อ จากปัญหาหมอกควันดังกล่าว นักวิจัยมหาวิทยาลัยชัยงใหม่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อคืนลมหายใจบริสุทธิ์ให้ชาวเชียงใหม่ และภาคเหนือ โดยได้เริ่มดำเนินการที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อนอันดับแรก ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ใช้เซนเซอร์ขนาดเล็กพัฒนาโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสามารถตรวจวัดปริมาณฝุ่นควัน PM10, PM2.5 และ PM1.0 แบบ real time ให้ครบ 205 ตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะทำการติดตั้งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งละ 1 เครื่อง คาดว่าจะดำเนินการติดตั้งเสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ทั้งนี้เพื่อรวบรวมข้อมูลปริมาณฝุ่นควัน PM10, PM2.5 และ PM1.0 เก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ พร้อมทั้งคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศจากจุดตรวจวัดดังกล่าวทุกตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ รายงานดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของชาวเชียงใหม่รายชั่วโมงจากจุดตรวจวัดทุกตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ ทางเว็บไซต์ http://www.cmaqhi.org/qa.php และ Application ชื่อว่า Blynk ในโทรศัพท์มือถือ แปลผลดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของชาวเชียงใหม่และแจ้งเตือนประชาชนในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศเป็นรายชั่วโมง แจ้งหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างทันเหตุการณ์ ทั้งนี้ อาศัยข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศในการสื่อสารและส่งเสริมการปลูกจิตสำนึกให้ชุมชน เพื่อให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการลดการเผาขยะ และช่วยกันสอดส่องและเฝ้าระวังชุมชนของตัวเอง

167863 167866

 

…………………………………………………………………………………………………………….

ข่าวโดย หน่วยประชาสัมพันธ์  และบริการวิชาการ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Post 1013 Views