“ข่าวดี ผลการวิจัยล่าสุด พบว่า การกินยาต้านไวรัสวันละเม็ด ในผู้ไม่ติดเชื้อเอชไอวี ที่เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้”
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ สถาบันวิจัยชั้นนำ 11 แห่ง ใน 6 ประเทศทั่วโลก เปิดเผยผลการวิจัยการกินยาต้านไวรัสเอชไอวี เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ชื่อ โครงการวิจัย iPrEx (ไอเพร็กส์) เป็นครั้งแรกในโลก ที่พบว่า การกินยาต้านไวรัสล่วงหน้า เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหรือเชื้อเอดส์ในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้ 43.8% และหากกินยาต้านสม่ำเสมอมากกว่า 90% จะลดการติดเชื้อได้ถึง 72.8% การศึกษานี้ได้มีรับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารชั้นนำ New England Journal of Medicine
โครงการวิจัย iPrEx มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,499 คน จาก 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเปรู เอกวาดอ บราซิล อัฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย โดยมีสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานเดียวในประเทศไทยและในเอเชีย ที่เข้าร่วมในโครงการวิจัยนี้ โดยมีสถานที่วิจัยอยู่ที่ “พิมานเซนเตอร์” ใกล้ ๆ กับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มี นายแพทย์โรเบิร์ท แกรนท์ เป็นหัวหน้าทีมวิจัยส่วนกลาง ณ สถาบันแกล็ดสโตน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทย มี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และจากมูลนิธิบิลและเมรินดา เกตต์ โดย เริ่มรับอาสาสมัครครั้งแรกเมื่อกลางปี 2550 ที่อเมริกาใต้ สำหรับประเทศไทยเริ่มโครงการวิจัยที่ “พิมานเซนเตอร์” จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อต้นปี 2552 และติดตามจนถึงเดือนสิงหาคม 2553 จึงได้ยุติการให้ยาวิจัยในทุกประเทศ แต่ยังคงมีการติดตามอาสาสมัครไปจนถึงเดือนมีนาคม ปี 2554
การศึกษานี้มีการสุ่มอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
• กลุ่มหนึ่งได้รับยาต้านไวรัสที่มีส่วนผสมของยาต้านไวรัสสองตัว ชื่อ ยาทีโนโฟเวียร์ (TDF) และยาเอมตริซิตาบิน (FTC) ผสมอยู่ในเม็ดเดียวกัน ชื่อทางการค้าว่า ทรูวาดา (Truvada) โดยกินวันละหนึ่งเม็ด ซึ่งปกติเป็นยาต้านไวรัสที่แพทย์สั่งใช้ร่วมกับยาต้านตัวอื่นในการรักษาผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์อยู่แล้ว
• ส่วนอาสาสมัครอีกกลุ่มจะถูกสุ่มให้ได้รับยาที่มีลักษณะเหมือนยาทรูวาดาจริงทุกอย่าง แต่ไม่มีตัวยาต้านผสมอยู่ โดยกินวันละหนึ่งเม็ด
ซึ่งทั้งตัวอาสาสมัครและนักวิจัย จะไม่มีใครทราบว่าอาสาสมัครคนไหนจะได้รับยากลุ่มใด ทั้งนี้เพื่อต้องการจะศึกษาว่า การกินยาต้านไวรัสเป็นประจำทุกวันในคนที่มีความเสี่ยง ในที่นี้คือ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย กลุ่มเกย์ และสาวประเภทสองที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย จะช่วยลดหรือป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้มากหรือน้อย และต้องการศึกษาดูด้วยว่า หากคนปกติที่ไม่ติดเชื้อได้รับยาต้านไวรัส จะมีความปลอดภัยหรือไม่ และจะก่อให้เกิดการดื้อต่อยาต้านหรือไม่หากเกิดมีการติดเชื้อเอชไอวีขึ้นในระหว่างที่กินยาป้องกันอยู่
จากการวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับยาต้านจริงจำนวน 1251 คน มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เกิดขึ้นในระหว่างการติดตามจำนวน 36 คน ส่วนในกลุ่มที่ได้รับยาเลียนแบบจำนวน 1248 คน มีผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า คือ 64 คน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ผลทางสถิติแล้ว สรุปได้ว่า ยาต้านไวรัสที่อาสาสมัครได้กินช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้ 43.8% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินยาเลียนแบบที่ไม่มีตัวยาอยู่จริง และเมื่อวิเคราะห์ตามความสม่ำเสมอในการกินยา พบว่า อาสาสมัครที่ตอบว่ากินยาวิจัยอย่างสม่ำเสมอมากกว่า 50% จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการ ติดเชื้อได้ประมาณ 50.2% แต่ถ้าหากกินยาสม่ำเสมอมากกว่า 90% จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้ถึง 72.8% ทั้งนี้อาสาสมัครในโครงการทุกรายจะได้รับการติดตามทุกเดือน โดยมีการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอดส์ ให้คำปรึกษาเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง การสนับสนุนและใช้ถุงยางอนามัย และดูแลรักษาเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
นอกจากนี้ยังพบว่ายาต้านมีความปลอดภัย ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรง อาจมีอาการคลื่นไส้เล็กน้อยในระยะแรก ๆ และมีน้ำหนักลดบ้าง แต่ไม่พบอันตรายที่รุนแรงต่อไต และตับ ส่วนการดื้อยา ไม่พบในผู้ที่ ติดเชื้อในระหว่างการศึกษา แต่พบการดื้อยาอยู่สองรายในกลุ่มยาจริงและหนึ่งรายที่ได้รับยาเลียนแบบ ซึ่งทั้งสามรายที่เป็นผู้ที่ติดเชื้อตั้งแต่แรกเข้าโครงการ แต่เนื่องจากเป็นการติดเชื้อใหม่ ทำให้ตรวจไม่พบว่าเป็น เลือดบวกด้วยวิธีตรวจเลือดตามปกติในช่วงแรก
รศ.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ได้กล่าวยกย่องอาสาสมัครทุกคนที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย iPrEx โดยเฉพาะกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในประเทศไทย ที่มีจิตอาสาเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการวิจัยนี้เป็นเวลาต่อเนื่องประมาณสองปี รวมถึงคณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชน ของทางสถาบัน ฯ ที่ได้มีส่วนสำคัญในการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ และนักวิจัย ที่ทำให้งานวิจัยครั้งนี้สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ในระยะปีเศษที่ผ่านมา โครงการ iPrEx นับเป็นโครงการวิจัยที่สาม ที่ค้นพบวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ได้ผล นับจากโครงการทดลองวัคซีนเอดส์ในประเทศไทย ที่พบว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ 31% ต่อมาคือโครงการ CAPRISA 004 ที่ใช้ 0.1% ทีโนโฟเวียร์ (TDF) ในรูปของเจล ที่ใช้ทาในช่องคลอดของผู้หญิงก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายในประเทศอัฟริกาใต้ ที่พบว่า เจลที่ผสมยาต้านช่วยลดการติดเชื้อเอชไอวีได้ 39% ขณะนี้ยังมีโครงการวิจัยการใช้ยาต้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อในผู้ที่มีความเสี่ยงกลุ่มต่าง ๆ อีกหลายโครงการที่กำลังดำเนินการวิจัยอยู่ในหลายประเทศ ที่มีอาสาสมัครโครงการวิจัยรวมมากกว่า 20,000 คนทั่วโลก คาดว่าจะมีการสรุปผลภายใน 2-3 ปีนี้ ส่วนการจะนำผลของโครงการวิจัย iPrEx นี้ไปไช้ร่วมกับวิธีการป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ ที่เป็นมาตรฐานอยู่ในขณะนี้ได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งองค์การอนามัยโลก โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ รัฐบาลของแต่ละประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ร่วมในการวิจัยครั้งนี้ หน่วยงานควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข องค์การอาหารและยา ต้องร่วมกันพิจารณาข้อมูลจากโครงการวิจัยนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ร่วมกับโครงวิจัยอื่น ๆ ที่กำลังจะตามมาในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อกำหนดวิธีการป้องกันการระบาดของโรคเอดส์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึงปีละ 2.7 ล้านคนทั่วโลก
สนใจอ่านรายละเอียดเติมได้ที่ www.pimancenter.com หรือที www.rihes.cmu.ac.th
………………………………………………………………………..