กิจกรรมวิชาการ.

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ สถาบันวิจัยชั้นนำ 13 แห่ง ใน 9 ประเทศทั่วโลก เปิดเผยผลการวิจัยใน “โครงการยาต้านไวรัสในคู่ผลเลือดเอชไอวีต่างกัน หรือ โครงการ HPTN052” ซึ่งเป็นการวิจัยทดลองทางคลินิกครั้งแรกในโลก ที่พบว่าการให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะที่ยังมีภูมิต้านทานดี คือระดับเม็ดเลือดขาวซีดี 4 อยู่ระหว่าง 350-550 เซลล์/ลบ.มม ช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปสู่คู่สมรสที่ยังไม่ติดเชื้อได้ถึง 96% เมื่อเทียบกับการให้ยาต้านแก่ผู้ติดเชื้อเมื่อมีระดับเม็ดเลือดขาวซีดีต่ำกว่า 200-250 เซลล์/ลบ.มม นอกจากนี้ยังช่วยลดโอกาสการป่วยเป็นโรควัณโรคนอกปอดได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

โครงการวิจัย HPTN052 มีอาสาสมัครเข้าร่วมในโครงการเป็นคู่ โดยคนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีและคู่สมรส/คู่ครองที่อาศัยอยู่กินด้วยกัน ยังไม่ติดเชื้อ หรือเรียกว่า “คู่ผลเลือดต่าง” จำนวนทั้งสิ้น 1,763 คู่ จาก 9 ประเทศ ได้แก่ ประเทศบอสวานา เคนยา มาลาวี อาฟริกาใต้ ซิมบับเว สหรัฐอเมริกา บราซิล อินเดีย และประเทศไทย (มีอาสาสมัครเข้าร่วมจากประเทศไทย จำนวน 106 คู่) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานแห่งเดียวในประเทศไทยที่เข้าร่วมในโครงการวิจัยทางคลินิกขนาดใหญ่นี้ โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ไมรอน โคเฮน จากมหาวิทยาลัยนอร์ท คาโรไลน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าทีมวิจัยหลักที่ส่วนกลาง ส่วนประเทศไทย มี รศ.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบัน วิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยหลักฝ่ายไทย และศาสตราจารย์ ดร. เดวิด เชเลนตาโน จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อพกินส์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฝ่ายสหรัฐ ที่ร่วมกันรับผิดชอบการวิจัยในประเทศไทยครั้งนี้ โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐ อเมริกา ภายใต้เครือข่ายการวิจัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV Prevention Trial Network; HPTN) โดยโครงการวิจัยนี้ได้เริ่มรับอาสาสมัครที่เป็นคู่ผลเลือดต่างกันตั้งแต่กลางปีพ.ศ. 2548 และได้ติดตามศึกษามาจนถึงปัจจุบัน

การศึกษานี้รับอาสาสมัครที่ติดเชื้อเอชไอวีที่มีสุขภาพดี มีระดับเม็ดเลือดขาวซีดี 4 อยู่ระหว่าง 350-550 เซลล์/ลบ.มม ในระยะแรกรับเข้าโครงการ และต้องมีคู่สมรส/หรือคู่ที่อาศัยอยู่กินด้วยกันที่ยังไม่ติดเชื้อ โดยรับอาสาสมัครเข้าโครงการวิจัยเป็นคู่ ผู้วิจัยทำการสุ่มคู่อาสาสมัครแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งผู้ติดเชื้อจะได้รับยาต้านไวรัสทันที ส่วนอีกกลุ่มจะติดตามให้การดูแลรักษาทั่วๆ ไปและพิจารณาให้ยาต้านไวรัสต่อเมื่อระดับเม็ดเลือดขาวซีดี 4 ต่ำกว่า 200-250 เซลล์/ลบ.มม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินดูว่า การให้ยาต้านไวรัสทันทีเทียบกับการให้ยาต้านภายหลัง จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่คู่ครองที่ไม่ติดเชื้อได้มากน้อยเพียงไร และยาต้านมีผลต่อภาวะสุขภาพและอาการเจ็บป่วยของผู้ติดเชื้อต่างกันหรือไม่ ทั้งนี้อาสาสมัครทุกคู่จะได้รับการให้คำปรึกษาแบบคู่ การให้คำปรึกษาเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอชไอวี ได้รับการแจกถุงยางอนามัยฟรี ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการให้คำแนะนำและรักษาอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการติดเชื้อเอดส์

โครงการวิจัยกำหนดให้ติดตามอาสาสมัครนานเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี แต่เมื่อติดตามคู่อาสาสมัครทั้งหมดมาได้นานโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปี ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่อนำเสนอต่อคณะ กรรมการกำกับดูแลข้อมูลและความปลอดภัยของอาสาสมัคร เมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการพิจารณาข้อมูลที่ได้วิเคราะห์มาจนถึงปัจจุบันซึ่งผ่านไปประมาณครึ่งทาง แสดงให้เห็นผลอย่างชัดเจนว่ากลุ่มที่ให้ยาต้านไวรัสทันทีนั้น คู่ครองมีการติดเชื้อจำนวน 1 ราย ส่วนกลุ่มที่ให้ยาต้านภายหลัง คู่ครองมีการติดเชื้อสูงถึง 27 ราย ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการถึงลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีและยืนยันได้ว่าเป็นการติดเชื้อเอชไอวีจากคู่ครองของตนเอง จากการคำนวณวิเคราะห์ทางสถิติ พบว่าการให้ยาต้านทันทีช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปสู่คู่ครองได้ถึง 96% และยังพบอีกว่า กลุ่มที่ให้ยาต้านทันทีป่วยเป็นวัณโรคนอกปอดจำนวน 3 ราย ส่วนกลุ่มที่ให้ยาต้านภายหลังป่วยเป็นโรคเดียวกัน 17 ราย ซึ่งถือว่าลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรควัณโรคนอกปอดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ทางคณะกรรมการฯ จึงแนะนำให้ทีมวิจัยและสถาบันสุขภาพแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกาผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย ได้ยุติโครงการ วิจัยนี้และขอให้เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยที่เป็นประโยชน์ดังกล่าวสู่สื่อสาธารณะโดยเร็วที่สุดต่อไป ทั้งนี้ทางโครงการวิจัยจะยังติดตามอาสาสมัครต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปีก่อนจะยุติการศึกษา และจะมีการเสนอให้ยาต้านไวรัสแก่อาสาสมัครที่ติดเชื้อทุกรายที่เข้าร่วมโครงการต่อไป

รศ.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ได้กล่าวยกย่องอาสาสมัครทุกคู่ที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย HPTN052 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากหลายจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย ที่มีจิตอาสาเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการวิจัยนี้เป็นเวลาต่อเนื่องมาหลายปี รวมถึงทีมงานวิจัยของสถาบันฯ ทุกท่านและขอขอบคุณคณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชน ของสถาบันฯ และคณะกรรมการพิจารณาด้านจริยธรรมการวิจัยทุกชุด ที่ได้มีส่วนสำคัญในการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ จนทำให้งานวิจัยครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างดี และได้ผลการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และยังเป็นประโยชน์ต่อการรักษาของผู้ติดเชื้ออีกด้วย สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลิก http://www.rihes.cmu.ac.th/rihes2010/subrihes04/news/news.detail.php?id=6

………………………………………………………

โดย หน่วยประชาสัมพันธ์ และบริการวิชาการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ

Post 1317 Views