กิจกรรมวิชาการ.

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตศูนย์ลำปาง และมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกันจัดทำโครงการ “การสร้างชุมชนต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ถั่วชีวภาพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ” โดยได้คัดเลือกให้ บ้านท่าโป่ง หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนของกลุ่มตำบลบ้านแม ให้เป็นชุมชนต้นแบบในการผลิตถั่วชีวภาพ โดยมี องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแม เป็นผู้สนับสนุนด้านต่าง ๆ และในวันที่ 6 ธันวาคม 2554 ได้มีพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ถั่วชีวภาพอย่างเป็นทางการ โดยมี ดร.ศักดา พรึงลำภู นักวิจัย ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวรายงานต่อ นายจำนงค์  ใฝปัน นายกองค์การบริหารส่วนตําบลบ้านแม ประธานในพิธีเปิด ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนต้นแบบ กลุ่มแปรรูปถั่วชีวภาพท่าโป่ง ตำบลบ้านแม อ. สันป่าตอง จ. เชียงใหม่

ถั่วเน่า เป็นอาหารที่ชาวบ้านทางภาคเหนือตอนบนของไทยนิยมรับประทานในครัวเรือน และเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตทำให้คนในชุมชนมีวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีการแปรรูปให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความหลากหลายขึ้นและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่ว

ถั่วเน่า (สด) ซึ่งหมักแบบวิถีชาวบ้านเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ นอกจากนั้นถั่วเน่ายังมีสารคาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน พร้อมแร่ธาตุต่าง ๆ  เช่น เหล็ก แคลเซียม แต่มีที่พิเศษคือมีปริมาณ อโซฟลาโวน หรือสารไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งมีคุณสมบัติลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ ภาวะกระดูกพรุน และอาการร้อนวูบวาบเนื่อจากภาวะหมดประจำเดือน

ถั่วชีวภาพ หมายถึง ถั่วเน่าที่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตในขั้นตอนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการหมักโดยได้นำเทคนิคเชื้อบริสุทธิ์มาประยุกต์ใช้ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่างทางโภชนกาารสูงขึ้น และมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น อาทิ เช่น เพิ่มปริมาณไอโซฟลาโวนเป็นต้น นอกจากนี้การนำเทคนิคเชื้อบริสุทธิ์มาประยุกต์ใช้จะช่วยให้ถั่วเน่าที่ได้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเชื้อบริสุทธิ์สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่เป็นการลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นที่ไม่ต้องการให้น้อยลง

…………………………………………………..

ข่าวโดย หน่วยประชาสัมพันธ์ และบริการวิชาการ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Post 1526 Views