กิจกรรมวิชาการ.

คลอดแล้ว! เครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม10 นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชี้ชัดเจ๋งเทียบเท่าเครื่องนำเข้า เสริมหน้าจอแสดงผลและไฟกระพริบเตือนค่าชัดเจน ตั้งเป้าปี 2556 ติดตั้ง 52 เครื่องใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

แม้ว่าสภาพอากาศในหลายจังหวัดของภาคเหนือจะเริ่มดีขึ้นจากปัญหาหมอกควัน เนื่องจากมีฝนตกลงมาในช่วงนี้ แต่ยังพบข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ว่ายังมีจุดเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ หรือ Hot spot อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากอากาศแห้งและไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่เหล่านี้ ก็อาจเกิดไฟป่าและส่งผลให้เกิดฝุ่นละออง – หมอกควันปกคลุมได้อีกครั้ง

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำงานวิจัยเรื่อง การขยายผลการวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบสุขภาพสู่ชุมชน เพื่อการเรียนรู้และลดแหล่งกำเนิดฝุ่นในอากาศ ในชุมชนภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตั้งแต่ปี 2551 – 2554 จนได้ผลการวิจัยว่า ปริมาณฝุ่นควันในพื้นที่นอกเมือง จะสูงกว่าพื้นที่ในเมือง 2-3 เท่า เนื่องจากเป็นแหล่งเกิดหมอกควันไฟป่าที่แท้จริง นอกจากนี้ฝุ่นควันเหล่านี้ยังมีสารก่อมะเร็งที่อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ในอนาคต ทำให้ทีมวิจัยนำองค์ความรู้ที่ได้เป็นฐานในการหาวิธีแก้ไขปัญหาหมอกควันที่ยั่งยืน โดยหนึ่งในวิธีที่คิดค้นขึ้นคือการประดิษฐ์เครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก และนำไปติดตั้งในพื้นที่นอกเมือง เพื่อให้คนในพื้นที่ทราบค่าปริมาณฝุ่นละอองที่แท้จริงจากการเผา และเกิดความตื่นตัวเรื่องปัญหาสุขภาพ

ผศ. สุชาติ  เกียรติวัฒนเจริญ  นักวิจัยร่วมจากคณะเทคนิคการแพทย์ และ ผศ.ศุภชัย  ชัยสวัสดิ์ นักวิจัยร่วมจากคณะแพทยศาสตร์ จึงประดิษฐ์เครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กขึ้น โดยยึดแบบจากเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กจากต่างประเทศ และยังเพิ่มขีดความสามารถของเครื่องมือให้มีหน้าจอแสดงผลเป็นตัวเลขขนาดใหญ่ สามารถเห็นได้ชัดเจน พร้อมกับมีสัญญาณไฟกระพริบเตือนหากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน 120 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร       “หลักการทำงานของเครื่องคือ เมื่อมีฝุ่นควันลอยผ่านหัวคัดขนาดฝุ่น 10 ไมครอน ที่ติดอยู่กับเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก เครื่องก็จะนับปริมาณฝุ่นและแปลงค่าไปยังตัวควบคุม ก่อนที่จะแสดงผลออกมา ซึ่งหากมีปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน คือ 120 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไฟจะกระพริบเป็นสีเหลือง และหากเกินไปมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไฟกระพริบจะเปลี่ยนเป็นสีแดง คุณภาพโดยรวมถือว่าเทียบเท่ากับของต่างประเทศแล้ว แต่ราคาถูกกว่า 2-3 เท่า”  ผศ.สุชาติกล่าว

ผศ.สุชาติ ยังระบุอีกว่าจะนำเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ติดตั้งไว้ในบริเวณโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อน เพื่อเป็นเครื่องต้นแบบในการพัฒนาไปสู่เครื่องรุ่นต่อไป ซึ่งจะเพิ่มระบบเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ต ให้สามารถแสดงผลเชื่อมต่อกันในทุกพื้นที่ที่ติดตั้งเครื่องวัด โดยมีราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อยเท่านั้น และคาดว่าภายใน 3 เดือน จะสามารถติดตั้งในพื้นที่เป้าหมาย คือในอำเภอพร้าวและอำเภอแม่แจ่มได้

“ตั้งเป้าว่าจะพัฒนาเครื่องตัวนี้ให้ไปถึงขั้นสามารถควบคุมตัวเครื่องจากระยะไกลได้ คือหากเครื่องขัดข้อง หรือเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา สามารถสั่งการเครื่องให้ทำงานใหม่ได้โดยไม่ต้องลงไปตรวจสอบในพื้นที่ด้วยตัวเอง คาดว่าใช้เวลาไม่เกินหนึ่งปีกับระบบดังกล่าว เครื่องวัดปริมาณฝุ่นที่เรามีอยู่ตอนนี้ 7 เครื่อง ที่ติดตั้งในอำเภอเชียงดาว 3 เครื่อง และในโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ ในอำเภอพร้าว อำเภอแม่แจ่ม และอำเภออมก๋อย อย่างละหนึ่งเครื่องนั้น สามารถนำผลที่ได้มาประเมินเป็นผลงานวิจัยเท่านั้น แต่เครื่องที่เราพัฒนาขึ้นนี้ จะสามารถแสดงให้ชุมชนเห็นเลยว่าพวกเขาต้องเจอกับอะไรบ้างช่วงที่เกิดหมอกควัน จึงถือว่าเป็นนวัตกรรมเพื่อให้เข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง” นักวิจัยชี้

เช่นเดียวกับ ดร.ทิพวรรณ  ประภามณฑล นักวิจัยอาวุโส จากหน่วยวิจัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. ในฐานะหัวหน้าโครงการ ระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า คนมักตื่นตัวเมื่อเห็นฝุ่นควันที่มองเห็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม แต่แท้จริงแล้วฝุ่นควันเกิดขึ้นตลอดทั้งปี ทำให้การแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นหากมีเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งแสดงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน จะเป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชน ตลอดจนผู้บริหารในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเกิดหมอกควันไฟป่า ให้แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

ดร.ทิพวรรณ กล่าวว่า “ข้อดีคือสามารถสื่อผ่านอินเทอร์เน็ตได้ จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเพราะภาคเหนือเรามีคุณภาพอากาศดีช่วงส่วนใหญ่ของเวลา ทำให้คนสามารถตรวจสอบได้ด้วย ขณะเดียวกันก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจการบริหารว่าจะลดปริมาณฝุ่นช่วงที่เรารับรู้กันอย่างไร เพราะว่าเรามีตัววัด เหมือนเราวัดไข้ ถ้าเรามีไข้ต่ำ เราแค่รู้สึกไม่สบายตัว แต่ถ้าเรามีไข้สูง เราอาจจะต้องกินยา ก็คือมีแผนเร่งด่วนในการจัดการ ตรงนี้ที่อยากจะเห็นเป็นรูปธรรมคือ วัดฝุ่นอย่างเดียวอาจไม่พอ ควรนำข้อมูลนี้เป็นข้อมูลประกอบในการดำเนินงานของท้องถิ่น”

นักวิจัยอาวุโสจากหน่วยวิจัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ย้ำอีกว่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมที่จะบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ กับจังหวัดและท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการของมหาวิทยาลัยที่จะให้บริการวิชาการเข้าถึงในทุกชุมชน ถึงระดับ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และเชื่อว่าหากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งประชาชน ท้องถิ่น จังหวัด และระดับประเทศ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนได้

“หากมีแผนปฏิบัติการตรงนี้ให้เห็นชัด ว่าปีแรกเราจะเห็นอะไร สามปีคุณภาพอากาศเราจะดี ไม่มีหมอกควันเลย จะได้หรือไม่ ตรงนี้ต้องมีแผนชัดเจน ถ้าไม่มีแผนชัดเจนก็จะเกิดปัญหาปีแล้วปีเล่า ถ้าตามแผนที่เราคุยกับจังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จะติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองพีเอ็ม10 จำนวน 52 เครื่อง ในปี 2556 ถ้าตรงนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตั้งแต่ตอนนี้ถึงปี 59 ปีละ 52 เครื่อง ก็จะครบทุกอำเภอใน 8 จังหวัด บางอำเภอจะมีมากกว่าหนึ่งเครื่อง เรายังต้องทำแผนปฏิบัติการท้องถิ่นเพื่อลดปริมาณฝุ่นด้วย ตั้งเครื่องอย่างเดียวมันก็ไม่ใช่เครื่องวิเศษอะไรที่จะทำให้ฝุ่นลด ถ้าคนยังเผาอยู่ ก็คือจะต้องทำแผนการควบคุมการเผาควบคู่ไปด้วย” ดร.ทิพวรรณกล่าวทิ้งท้าย

…………………………………………………………………………………….

หน่วยประชาสัมพันธ์ และบริการวิชาการ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Post 1683 Views