โครงการส่งเสริมศักยภาพชุมชนในการบริโภคและมีแหล่งอาหารปลอดภัยในชุมชนอย่างยั่งยืน

ชื่อโครงการ:

โครงการส่งเสริมศักยภาพชุมชนในการบริโภคและมีแหล่งอาหารปลอดภัยในชุมชนอย่างยั่งยืน

ชื่อย่อ:  บริการวิชาการ-58

หัวหน้าโครงการวิจัย :

ดร.ธัญภรณ์ เกิดน้อย

ผู้ร่วมโครงการ:

ดร. ทิพวรรณ ประภามณฑล
ดร สุรัตน์ หงษ์สิบสอง

สถานที่วิจัย:

พื้นที่หลักในโครงการประกอบด้วย
1. อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ : องค์การบริหารส่วนตำบลโหล่งขอด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโหล่งขอด โรงเรียนบ้านโหล่งขอด
2. อำเภอแม่แจ่ม  จังหวัดเชียงใหม่ : องค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาจร
3. อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ : องค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อย โรงเรียนบ้านยางเปา
4. อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน : เทศบาลตำบลศรีบัวบาน ชุมชนรอบศูนย์ศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” จังหวัดลำพูน

หน่วยงานผู้สนับสนุนทุนวิจัย:

งบประมาณแผ่นดิน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี 2558

รูปแบบการวิจัย:

จัดอบรมสัมมนาความรู้ และปฏิบัติการสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยในชุมชน

วัตถุประสงค์ของการวิจัย:

3.1  เพื่อสร้างความเข้าใจถึงระบบห่วงโซ่อาหารที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมี
3.2  เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในทุกภาคส่วนในชุมชนโดยการตรวจเลือดเพื่อหาระดับสารเคมีตกค้างในร่างกายและสารเคมีปนเปื้อนในผักและผลไม้ให้กับประชาชนในชุมชน
3.3  เพื่อให้มีแหล่งผลิต แหล่งจำหน่ายอาหารปลอดภัยในชุมชนอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

3.4  เพื่อให้เกิดเครือข่ายภายในชุมชน และภายนอกชุมชน ในการสนับสนุนการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัยในชุมชนและโรงเรียนอย่างบูรณาการ

จำนวนอาสาสมัครที่คาดว่าจะรับ: พื้นที่ละ 100 คน รวม 400 คน

ปี พ.ศ.ที่เริ่มดำเนินงาน: ตุลาคม 2557

ปี พ.ศ. ที่คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้น: กันยายน 2558

ความสำคัญ:
จากสถิติการนำเข้าสารเคมีและวัตถุอันตรายทางการเกษตรของประเทศไทย ในปี 2554 – 2556 รายงานโดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าปริมาณเฉลี่ย 3,544,686 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 13,359 ล้านบาท ซึ่งการใช้สารเคมีทางการเกษตรในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นนี้ กอปรกับกระบวนการผลิตที่ไม่เหมาะสม ทำให้สารเคมีฯแพร่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมและในระบบห่วงโซ่อาหาร โดยสารเคมีฯ ตกค้างที่ตรวจพบมากใน ผัก ผลไม้ และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยสารเคมี   4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต 2) กลุ่มคาร์บาเมต 3) กลุ่มไพเรทรอยด์ และ 4) กลุ่มออร์กาโนคลอรีน ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยของอาหารแก่ผู้บริโภคและชุมชน จึงจำเป็นต้องสร้างให้เกิดความรู้ความเข้าใจห่วงโซ่ของผลกระทบจากการใช้สารเคมีต่อระบบอาหารทั้งในชุมชนและโรงเรียน รวมทั้งเป็นแรงผลักดันให้เกิดแหล่งอาหารปลอดภัยและลดรายจ่ายจากการซื้ออาหารจากภายนอกที่อาจปนเปื้อนสารเคมี โดยการปลูกพืชผักปลอดภัยในครัวเรือนและเป็นเครือข่ายให้เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยในโรงเรียน โดยประสานให้เกิดการปฏิบัติแบบบูรณาการความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับองค์กรต่างๆในพื้นที่ ประกอบด้วย

(1) คณะนักวิจัยจากคณะและสถาบันในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะเกษตรศาสตร์
(2) หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งดูแลรับผิดชอบงานสาธารณสุขในพื้นที่
(3) สถาบันการศึกษา และโรงเรียนในหมู่บ้านเป้าหมาย และ
(4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีกิจกรรมการอบรมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ทราบและตระหนักถึง ห่วงโซ่ผลกระทบของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ และเศรษฐกิจครัวเรือน แก่เกษตรกร ผู้ปกครองนักเรียน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วร่วมกันสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยในครัวเรือน เพื่อนำไปสู่การบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยในชุมชนและโรงเรียน เกิดเป็นเครือข่ายความรู้ ความเข้าใจและมีกิจกรรมต้นแบบที่สามารถนำไปปฏิบัติเองได้ในชุมชนในการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยและนำสู่การเปลี่ยนแปลงการผลิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

Post 8774 Views