การพัฒนานักวิทยาศาสตร์ชุมชนรุ่นเยาว์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้มลพิษสิ่งแวดล้อม ผลต่อสุขภาพประชาชน และแนวทางการป้องกันแก้ไข: การศึกษานำร่องด้านมลพิษหมอกควันในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อโครงการ:

ชื่อภาษาไทย: การพัฒนานักวิทยาศาสตร์ชุมชนรุ่นเยาว์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้มลพิษสิ่งแวดล้อม ผลต่อสุขภาพประชาชน และแนวทางการป้องกันแก้ไข: การศึกษานำร่องด้านมลพิษหมอกควันในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่


ชื่อภาษาอังกฤษ: Development of young scientists for learning environment, health impact and solution in their community: a pilot model for smog pollution  in Omkoi District, Chiang Mai Province

ชื่อย่อ: อมก๋อยโมเดล (OKmodel)

หัวหน้าโครงการ:  ดร.ทิพวรรณ  ประภามณฑล

นักวิจัยร่วม:

  • ดร.ธัญภรณ์ เกิดน้อย
  • ดร.สุรัตน์ หงษ์สิบสอง
  • นางสาววรางคณา นาคเสน
  • นายแสวง กาวิชัย
  • นางสาวนิพรรณ ศรีนวล

สถานที่วิจัย: รร. บ้านยางครก อ. อมก๋อย

หน่วยงานผู้สนับสนุนทุนวิจัย: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รูปแบบการวิจัย: การวิจัยนำร่องและการอบรมให้ความรู้

วัตถุประสงค์ของการวิจัย:
เพื่อพัฒนานักวิจัยชุมชนรุ่นเยาว์โดยให้การฝึกอบรมและปฏิบัติวิจัยร่วมกับคณะทำงานในชุมชน ในประเด็น ดังต่อไปนี้

  1. เพื่อพัฒนานักวิจัยชุมชนรุ่นเยาว์ให้มีความรู้ความเข้าใจการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การเกิดมลพิษสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะหมอกควัน และผลต่อสุขภาพประชาชน
  2. เพื่อมีนักวิจัยชุมชนรุ่นเยาว์เชื่อมโยงการทำวิจัยระหว่างคณะทำงานและชุมชนเป้าหมาย
  3. เพื่อมีนักวิจัยชุมชนรุ่นเยาว์ร่วมให้ข้อมูลแก่ผู้บริหารในระดับอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการมลพิษหมอกควันในพื้นที่

จำนวนอาสาสมัครที่คาดว่าจะรับ:
นักเรียนบ้านยางครก อ.อมก๋อย ชัน ป.4-ม. 3 จำนวน 120 คน

ระยะเวลาดำเนินงาน:
ม.ค. – ก.ย. 58

ความสำคัญ:
มลพิษทางอากาศ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 โดยเป็นมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่เกิดจากการเผาในที่โล่ง อาทิ การเผาพื้นที่เกษตรหลังการเก็บเกี่ยว การเผาในพื้นที่ป่า และการเผาใบไม้ กิ่งไม้แห้งในชุมชน ในช่วงดังกล่าวพบว่า ณ วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2550 ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือเรียกว่าฝุ่นพีเอ็ม10 (PM10) ที่สถานีตรวจวัดโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย มีค่าสูงถึง 383 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มากกว่า 3 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก
ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า อำเภออมก๋อย เป็นอำเภอที่มีการเผาในที่โล่งมากที่สุดเป็นที่ 1 หรือ ที่ 2 ทุกปี และอนุมานว่า ผู้คนในพื้นที่อำเภออมก๋อย อาจจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลัน (acute effect) ต่อระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และผลต่อสุขภาพแบบเรื้อรัง (chronic effect) โดยเฉพาะการเกิดโรคมะเร็ง รวมทั้งการก่อโรคภูมิแพ้ต่างๆ ทั้งนี้เพราะบนฝุ่นเหล่านี้มีสารก่อมะเร็งเกาะอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะ สารพอลิไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือสารพีเอเอช (Polycyclic aromatic hydrocarbons or PAHs) (IARC, 1984; 2010) นอกจากนี้ยังพบว่า  สารพีเอเอชบนฝุ่นพีเอ็ม10 ที่ตรวจพบ ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการก่อให้เกิดมะเร็งในตลอดช่วงชีวิต (Incremental Lifetime Cancer Risk, ILCR) จากช่วงฤดูฝนที่ไม่มีหมอกควัน ถึง 1.5-1.6 เท่า (ทิพวรรณ และคณะ 2556)
ดังนั้น เพื่อสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในถึงอันตรายต่อสุขภาพจากการเผาในที่โล่งต่างๆ ทั้งในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ป่า และประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้รับทราบคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะปริมาณฝุ่นพีเอ็ม10 ในพื้นที่ของตนเอง  ซึ่งจะนำไปสู่การลดการเผาในที่โล่ง และลดปัญหามลพิษทางอากาศในแอ่งเชียงใหม่ลำพูน โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ ได้ ทั้งนี้ โครงการบริการวิชาการสู่ชุมชนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในครั้งนี้ มุ่งการพัฒนานักวิจัยชุมชนรุ่นเยาว์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้มลพิษสิ่งแวดล้อม ผลต่อสุขภาพประชาชน และแนวทางการป้องกันแก้ไข มลพิษหมอกควันในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

Post 8545 Views