การเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษหมอกควัน และผลกระทบสุขภาพ ในพื้นที่มีจุดความร้อนสูงในจังหวัดเชียงใหม่ (สำหรับศูนย์ความเป็นเลิศด้านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติประเทศไทย)


ชื่อโครงการ:

ชื่อภาษาไทย: การเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษหมอกควัน และผลกระทบสุขภาพ ในพื้นที่มีจุดความร้อนสูงในจังหวัดเชียงใหม่ (สำหรับศูนย์ความเป็นเลิศด้านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติประเทศไทย)


ชื่อภาษาอังกฤษ: Surveillance of climate change, smog pollution and health impact in high hotspot areas in Chiang Mai Province  (for Center of Excellence for the Effects of Climate Changes on Environments and Natural Resources of Thailand)

ชื่อย่อ: CCA

หัวหน้าโครงการ:  ดร.ทิพวรรณ  ประภามณฑล

นักวิจัยร่วม:

  • ดร.ธัญภรณ์ เกิดน้อย
  • ดร.สุรัตน์ หงษ์สิบสอง
  • นางสาววรางคณา นาคเสน
  • นายแสวง กาวิชัย
  • นางสาวนิพรรณ ศรีนวล

สถานที่วิจัย: รร. บ้านน่าฮ่อง อ. แม่แจ่ม

หน่วยงานผู้สนับสนุนทุนวิจัย: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รูปแบบการวิจัย: การวิจัยนำร่องและการอบรมให้ความรู้

วัตถุประสงค์ของการวิจัย:
เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษหมอกควัน และสุขภาพในอำเภอแม่แจ่ม และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ สารบ่งชี้การรับสัมผัสสารมลพิษทางอากาศในปัสสาวะ และบันทึกสุขภาพประจำวันของนักเรียนในพื้นที่
เพื่อสนับสนุนกระบวนการการลดความรุนแรงการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ การปรับตัว และการจัดการสิ่งแวดล้อม และผลกระทบสุขภาพ โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในโครงการวิจัย
จำนวนอาสาสมัครที่คาดว่าจะรับ:
นักเรียนบ้านนาฮ่อง อ.อมก๋อย ชัน ป.4-ป.6 จำนวน 60 คน
ระยะเวลาดำเนินงาน:
ม.ค. – ธ.ค. 58

ความสำคัญ:
หมอกควันในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 และได้เกิดขึ้นทุกปีในเวลาต่อมา โดยมักเกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม หมอกควันในภาคเหนือตอนบนนี้เป็นมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาในที่โล่งจำนวนมาก เช่น เกิดจากการเผาเศษวัสดุเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว การเผาวัชพืชริมถนน และการเกิดไฟไหม้เข้าไปในพื้นที่ป่า ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนจุดความร้อนที่มากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวของทุกปี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ร้อนและแห้งแล้งขึ้นในปัจจุบันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไฟป่าและมลพิษหมอกควันทวีความรุนแรงขึ้น  ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน (acute health effect) ของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็ก ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มักจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
อำเภอแม่แจ่ม เป็นอำเภอที่มักจะพบจำนวนจุดความร้อน (hotspots) สูงสุดของจังหวัดเชียงใหม่และมีปัญหามลพิษหมอกควันในช่วงฤดูแล้ง จากการวิจัยมลพิษในอากาศในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2555 พบว่า ค่าสูงสุดของฝุ่นพีเอ็ม10 (อนุภาคฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมโครเมตร หรือไมครอน) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม มีค่าเท่ากับ 263  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอากาศ ซึ่งมากกว่าค่ามาตรฐานฝุ่นพีเอ็ม10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของประเทศไทย (120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอากาศ) ถึง 2 เท่า นอกจากนี้ยังพบ สารพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน หรือสารพีเอเอช (polycyclic aromatic hydrocarbons or PAHs) ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่มีฤทธิ์ก่อมะเร็งบนฝุ่นพีเอ็ม10 ดังกล่าว (IARC 1984) และทำให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการก่อให้เกิดมะเร็งในตลอดช่วงชีวิต (Incremental Lifetime Cancer Risk, ILCR) มากกว่าประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ถึง 1.7 เท่า (ทิพวรรณ และคณะ, 2556)
ปัญหามลพิษหมอกควันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงซ้อนที่เกิดจากหลายสาเหตุซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาเพื่อกำจัดส่วนที่เหลือทิ้งจากการเกษตร เตรียมพื้นที่เพาะปลูก และหาของป่า นอกจากนี้ยังรวมถึงการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่สะอาดในการหุงต้มและใช้ในครัวเรือน ซึ่งส่งผลระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชนทั้งระยะสั้น เช่น เกิดอาการไอ จาม หอมหืด และระยะยาว  เช่น มะเร็ง ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนมักไม่เห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพอันเนื่องจากหมอกควันหากไม่เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่เห็นชัดเจน ดังนั้น ชุมชนควรจะได้แลกเปลี่ยนรู้ร่วมกัน เข้าใจและรับรู้ผลกระทบจากการสัมผัสสารมลพิษต่างๆในอากาศต่อสุขภาพ  เพื่อนำไปสู่การป้องกันการกระทำที่ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดมลพิษหมอกควัน
การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องมลพิษหมอกควันและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่ชุมชนนั้น นักวิจัยจำเป็นต้องหาวิธีที่เหมาะสมเพื่อให้เหมาะกับประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น การใช้คนกลางที่สามารถเข้าใจและตระหนักปัญหาดังกล่าวจากงานวิจัยและเข้าใจบริบทของชุมชนเพื่อเชื่อมองค์ความรู้ระหว่างนักวิจัยกับชุมชน จะสามารถทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับงานวิจัย เข้าใจปัญหา อีกทั้งยังสามารถลดความรุนแรง ปรับตัว และจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษหมอกควันในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
โครงการวิจัยนี้ จะทำการวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ และข้อมูลสุขภาพในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มและอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 มีส่วนร่วมในงานวิจัย และเชื่อมข้อมูลงานวิจัยแก่ชุมชนที่ตนเองอาศัย เพื่อทำให้ชุมชนเกิดความเข้าใจ ปรับตัว และจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษหมอกควันได้อย่างบูรณการและยั่งยืน

Post 15953 Views