บทความ.

stem-cell

บทความโดย : ณัฐยา บุญภักดี
คอลัมน์เสียงสตรี หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2548

สเต็มเซลล์ (stem cell) หรือ เซลล์ต้นตอ หรือ เซลล์ต้นกำเนิด เป็นชื่อเรียกของเซลล์ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปเป็นเซลล์อวัยวะต่างๆของร่างกาย บทความ “เซลล์มหัศจรรย์แห่งการบำบัด” โดย ริก ไวส์ แห่งนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก (NG) ประจำเดือนกรกฎาคม เกริ่นนำว่า “เมื่อชีวิตเริ่มถือกำเนิดขึ้น เซลล์หนึ่งเซลล์จะแบ่งตัวออกเป็นสอง จากสองเป็นสี่ ทวีจำนวนขึ้น จนกลายเป็นลูกกลมๆ ที่ประกอบด้วยเซลล์มากมายซึ่งจะเติบโตเป็นมนุษย์ต่อไป นักวิทยาศาสตร์ฝันที่จะแยกเซลล์ไร้เดียงสาเหล่านี้ออกจากเอ็มบริโอของมนุษย์ เพื่อนำมากระตุ้นในสภาพปลอดเชื้อให้พัฒนาไปเป็นเซลล์กว่า 200 ชนิดซึ่งประกอบขึ้นเป็นร่างกายมนุษย์ ทั้งเซลล์ตับ สมอง ผิวหนัง กระดูก และเส้นประสาท อันเป็นกระบวนการอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในครรภ์มารดา ความใฝ่ฝันดังกล่าวจะนำไปสู่การปฏิวัติทางการแพทย์เพื่อซ่อมแซมอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่เสียหาย” โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า เทคโนโลยีการรักษาและฟื้นฟูด้วยเซลล์ต้นกำเนิด (regenerative medicine) ซึ่งมีสเต็มเซลล์เป็นตัวเอกนี้เอง
    แล้วสเต็มเซลล์มาจากไหน ? ต่อคำถามนี้ ริก ไวส์ แห่งนิตยสาร NG อธิบายว่า สเต็มเซลล์มี 2 ประเภทแบ่งตามแหล่งกำเนิด
    ประเภทแรกเป็นสเต็มเซลล์ที่มีอยู่แล้วในร่างกายของมนุษย์โดยแฝงอยู่ในอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ สเต็มเซลล์ชนิดนี้เรียกว่า สเต็มเซลล์ผู้ใหญ่ หรือ adult stem cell เช่นในเลือด ไขกระดูก สมอง ตับอ่อน เป็นต้น สเต็มเซลล์ที่อยู่ในรกและสายสะดือถูกรวมอยู่ในกลุ่มสเต็มเซลล์ผู้ใหญ่นี้ด้วยเช่นกัน
    สเต็มเซลล์อีกประเภทหนึ่งเรียกว่า สเต็มเซลล์จากเอ็มบริโอ หรือ embryonic stem cell เป็นสเต็มเซลล์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเอ็มบริโอหรือกลุ่มเซลล์ที่เป็นตัวอ่อนนั่นเอง เอ็มบริโอที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์มีที่มาจาก 2 แหล่ง คือ เอ็มบริโอที่เหลือจากการทำเด็กหลอดแก้ว กับเอ็มบริโอที่ได้จากการโคลนนิ่ง
    ความต่างที่สำคัญระหว่างสเต็มเซลล์ผู้ใหญ่ กับสเต็มเซลล์เอ็มบริโอ คือ สเต็มเซลล์ของผู้ใหญ่มีพัฒนาการไปตามเนื้อเยื่อต้นกำเนิด เช่น สเต็มเซลล์จากสมองพัฒนาไปเป็นเซลล์ประสาทได้ แต่ไม่อาจเปลี่ยนเป็นเซลล์ตับหรือเซลล์กระดูกได้ ในขณะที่สเต็มเซลล์จากเอ็มบริโอสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดใดก็ได้ นี้เป็นสิ่งที่ ริก ไวส์ อธิบายไว้ในบทความของเขา แต่คำอธิบายนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นสุดเพราะในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังคงค้นหาคำตอบว่าเป็นเช่นนี้แน่นอนหรือไม่
    อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ทำให้แนวโน้มของการวิจัยนับแต่นี้ไป ก็คือ สเต็มเซลล์จากเอ็มบริโอสร้างความหวังเรืองรองให้แก่วงการแพทย์มากกว่าสเต็มเซลล์จากผู้ใหญ่ 
    คำถามคือ เราจะไปหาเอ็มบริโอจากไหนมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ ?
    การสร้างเอ็มบริโอทำได้หลายวิธี แต่ทุกวิธีล้วนแล้วแต่ต้องใช้ไข่จากร่างกายผู้หญิงทั้งสิ้น และการจะได้ไข่จากร่างกายผู้หญิงก็ออกจะเป็นเรื่องสาหัสเพราะอย่างที่ทราบกันว่าโดยทั่วไปร่างกายผู้หญิงเกิดการตกไข่เพียงเดือนละ 1 ฟองเท่านั้น 
    การหาสเต็มเซลล์จากเอ็มบริโอที่เหลือใช้ตามคลินิกช่วยผู้มีบุตรยาอาจเป็นเรื่องพอรับได้ แต่การสร้างสเต็มเซลล์จากเอ็มบริโอที่ได้จากการโคลนนิ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของผู้หญิงจำนวนมากในโลก เพราะการอนุญาตให้มีการโคลนเอ็มบริโอส่งผลให้ผู้หญิงที่ถูกชวนให้เข้าร่วมโครงการวิจัยจำต้องรับยาฮอร์โมนที่ช่วยทำให้เกิดการตกไข่จำนวนมาก ในขณะที่ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายของยาฮอร์โมนเหล่านี้เป็นเรื่องที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ หรือที่มีข้อมูลแล้วก็เป็นข้อมูลเพียงบางเสี้ยวบางส่วนเท่านั้น และที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าไข่ทุกใบเมื่อผ่านกระบวนการโคลนแล้วจะสามารถก่อเกิดเอ็มบริโอที่มีคุณภาพพอที่จะให้สเต็มเซลล์ที่ใช้งานได้จริง มีรายงานผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ทางวารสารทางการแพทย์พบว่า ในไข่จำนวน 176 ใบสามารถก่อให้เกิดเอ็มบริโอได้เพียง 1 เอ็มบริโอเท่านั้น 
    ลองนึกดูว่าขณะนี้เรามีการวิจัยสเต็มเซลล์อยู่กี่โครงการในโลก และในการศึกษาวิจัยสเต็มเซลล์โครงการหนึ่งๆ นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เอ็มบริโอจำนวนมากเท่าใดเพื่อนำมาเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ และนั่นจะหมายถึงผู้หญิงจำนวนเท่าไรที่ต้องรับยาฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างไข่โดยที่ยังไม่แน่ชัดว่ายาฮอร์โมนเหล่านั้นจะปลอดภัยต่อสุขภาพจริงหรือไม่
    การโคลนเอ็มบริโอเพื่อเพาะสเต็มเซลล์จึงเป็นเรื่องที่ผู้หญิงเพิกเฉยไม่ได้ 
    การวิจัยว่าด้วยสเต็มเซลล์ทั้งหลายจึงเป็นเรื่องที่ผู้หญิงต้องเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจและเท่าทันสถานการณ์ 
    เรื่องน่าคิดสำหรับผู้รักความยุติธรรมทั้งหลายไม่เฉพาะแต่นักสตรีนิยมก็คือ ผู้หญิงที่ถูกชักชวนเข้าร่วมโครงการทดลองเหล่านี้จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนก่อนที่จะได้ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในโครงการทดลองนั้นๆมีการใช้ยาที่ยังไม่มีข้อมูลว่าปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่
    ยิ่งไปกว่านั้น เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าโครงการทดลองบางโครงการมีการให้เงินหรือสิ่งตอบแทนเพื่อจูงใจผู้เข้าร่วมโครงการ
    และถ้าจินตนาการต่อไปในวันข้างหน้า (หรืออาจกำลังเกิดขึ้นแล้วในมุมเงียบๆมุมใดมุมหนึ่งบนโลกใบนี้) อาจมีความเป็นไปได้ว่าประชากรผู้หญิงกลายสถานภาพเป็นคนงานในโรงงานผลิตไข่เพื่อป้อนตลาดสเต็มเซลล์ก็เป็นได้ !
    ทุกวันนี้ วงการโคลนนิ่งเพื่องานวิจัย (research cloning) พูดถึงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยและการสร้างโอกาสของการมีสุขภาพดีด้วยการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษา มากยิ่งกว่าการพูดถึงความเสี่ยงอันตรายของประชากรผู้ต้องเสียสละไข่ รวมไปถึงจะทำอย่างไรเพื่อขจัดความเสี่ยงต่ออันตรายเหล่านั้น
    นอกจากนี้ การถกเถียงเรื่องควรหรือไม่ควรให้โคลนนิ่งเอ็มบริโอเพื่อสร้างสเต็มเซลล์นั้น ยังเป็นการถกเถียงโดยมีจุดใหญ่ใจความอยู่ที่เรื่องสถานภาพความเป็นมนุษย์ของเอ็มบริโอ และกลายเป็นเพียงการเถียงกันระหว่างฝ่ายสนับสนุนซึ่งมีจุดยืนอยู่ที่เรื่องสุขภาพกับวิทยาศาสตร์ กับฝ่ายค้านที่ถูกเหมารวมว่าเป็นฝ่ายศาสนาและพวกโพรไลฟ์ (pro-life) ซึ่งกลุ่มหลังนี้สร้างชื่อเสียงมานานเรื่องการต่อต้านการทำแท้ง
    ภาพกระบวนการได้มาซึ่งสเต็มเซลล์หรือเอ็มบริโอเลยถูกอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์จนมองไม่เห็นว่ามีมนุษย์ผู้หญิงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทดลอง
    ประเด็นคือ ผู้หญิงต้องตื่นรู้กับเรื่องนี้ เพราะข้อถกเถียงต่างๆ ไม่ได้มองเห็นตัวตนของผู้หญิงเลย ไม่ว่าจะแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ หรือในทางจริยศาสตร์ ภาษาที่ใช้ในการอธิบายเรื่องสเต็มเซลล์มันเป็นวิทยาศาตร์และขาดการอธิบายจนประชาชนทั่วไปแทบไม่เคยรู้ว่า ผู้หญิงเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร
    ในระหว่างที่การถกเถียงระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนากำลังดำเนินไปนั้น การวิจัยสเต็มเซลล์ก็ดำเนินไปในหลายประเทศเช่นเดียวกัน เพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะไหลมาสู่ผู้ที่สามารถควบคุมเทคโนโลยีนี้ได้เป็นคนแรกของโลก ในจังหวะเวลาอันสำคัญนี้เองที่นโยบายหรือกฎหมายที่จะถูกกำหนดขึ้นมา ต้องถูกสร้างจากมุมมองของผู้หญิงด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มเปราะบางต่อการได้รับผลกระทบที่เป็นอันตรายจากกระบวนการพัฒนาเหล่านี้
    อย่าให้มนุษย์กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดต้องมาสังเวยให้กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะดีกว่า เพราะประเด็นพื้นฐานจริงๆ มีอยู่แค่ว่า จริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร และรัฐจะใช้เงินของประชาชนผู้เสียภาษีอย่างไรให้มีประสิทธิสูงสุดในการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค