บทความ.

1_ดร_นเรศ-ดำรงชัย-ผอ_TCELS_

ชีวจริยธรรมของการวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิด จากแนวคิดสู่แนวทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทย


ชีวจริยธรรมของการวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิด
จากแนวคิดสู่แนวทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทย
ดร. นเรศ ดำรงชัย
สมาชิกคณะทำงานพัฒนาแนวปฏิบัติการวิจัยด้านสเต็มเซลล์ในมนุษย์

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมในการวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ ถ้าจะสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญก็พอจะกล่าวได้ว่ามีอยู่สองเรื่องใหญ่ ๆ เรื่องที่หนึ่งก็คือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลและเงื่อนไขเพื่อปกป้องผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง (interest, incentive, information) และอีกเรื่องหนึ่งคือปัญหาการพิจารณาสถานภาพในความมีชีวิตหรือความเป็นมนุษย์ของตัวอ่อน (moral standing of the embryo)

1. “ใครได้ ใครเสียประโยชน์ และใครควรถูกคุ้มครอง?”
ปัญหาการรักษาผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องนั้น มุ่งพิจารณากรณีที่ผู้วิจัยได้รับบริจาคตัวอ่อนมาจากผู้ป่วยที่ตั้งใจมารักษาการมีบุตรยาก ซึ่งควรมีเงื่อนไขในทางจริยธรรมกำกับในเรื่องนี้ เช่น (ร่าง) แนวปฏิบัติฯ ของไทยที่จัดทำโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติระบุว่า ตัวอ่อนที่ใช้ในการวิจัยเพื่อเป็นแหล่งที่มาของสเต็มเซลล์จะต้องเป็นตัวอ่อนที่เกินจากความต้องการที่ใช้ในการทำให้เกิดบุตร โดยจะต้องไม่มีการชี้ชวน หรือจ่ายเงินใด ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งตัวอ่อนนั้น อีกทั้งจะต้องปราศจากการชี้นำของบุคคลใด ๆ ที่จะเป็นผู้ได้รับเซลล์นั้นในฐานะคนไข้หรือผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ที่ได้รับจากตัวอ่อน ส่วนทางด้านผู้วิจัยจะต้องจัดทำข้อตกลงในการสร้างตัวอ่อนขึ้นมาเพื่อรักษาการมีบุตรยาก และข้อตกลงในการบริจาคตัวอ่อนที่เหลือจากความต้องการสำหรับใช้ในงานวิจัยที่ต้องการสเต็มเซลล์ แยกกันคนละฉบับ รวมทั้งจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลที่จะทำให้บ่งชี้ได้ว่าผู้ที่บริจาคไข่หรือตัวอ่อนเป็นใคร
ในกรณีที่การวิจัยเสต็มเซลล์นั้นอาจมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ คำยินยอมที่ให้ผู้บริจาคฯ ลงชื่อจะต้องระบุว่าผู้บริจาคจะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินตอบแทนหรือผลประโยชน์อันจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาสเต็มเซลล์ดังกล่าวในทางการค้า
การจัดการกับปัญหาจริยธรรมในข้อแรกนี้ ดูเหมือนว่ามีความคล้ายคลึงกับการจัดการเกี่ยวกับจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์และนักวิจัย ที่มีจัดประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน การแสวงประโยชน์ด้วยการชี้นำ และการเสียเปรียบเพราะขาดโอกาสรับรู้ข้อมูลที่เพียงพอ

2. “ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นเมื่อไหร่?”
ส่วน ปัญหาสถานภาพในความมีชีวิตหรือความเป็นมนุษย์ของตัวอ่อน เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน ที่แม้ว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันจะให้ข้อมูลที่สามารถนำมาเป็นเกณฑ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่แม้ในระดับสากลก็มิได้มีข้อสรุปที่ลงตัว คงเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศไปจัดการตั้งกฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติกันเองต่าง ๆ กันไป
ด้วยความรู้ปัจจุบัน เราทราบว่ากระบวนการพัฒนาไปเป็นตัวอ่อน (development) เริ่มขึ้นตั้งแต่ เมื่อเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่และสเปอร์ม) ผสมกัน นำเอาสารพันธุกรรมจากพ่อและแม่อย่างละครึ่งมารวมกันเป็นเซลล์ที่มีโครโมโซมอยู่ 23 คู่ นี่คือไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว (fertilized egg หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า zygote) จากนั้นเป็นต้นไปเซลล์นี้จะแบ่งตัวไปเรื่อย ๆ เป็นเวลาประมาณสองสัปดาห์ นักชีววิทยาการสืบพันธุ์บางคนเสนอให้ใช้คำว่า pre-embryo สำหรับเรียกตัวอ่อนในระยะนี้มากกว่าใช้คำว่า embryo ด้วยเหตุผลในทางปฏิบัติมากกว่าเหตุผลทางวิทยาศาสตร์
ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ในระยะแรกนี้เซลล์จะแบ่งตัวเป็นสอง สี่ แปดเซลล์ หากเราแยกเซลล์ที่แบ่งตัวอยู่นี้ออกจากกัน แต่ละเซลล์ก็จะยังสามารถพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนได้ด้วยตัวของมันเอง (นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดครรภ์แฝด)
แต่เมื่อถึงระยะ 16 เซลล์ จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเซลล์เล็ก ๆ นี้ จากที่เคยเหมือนกันทุก ๆ เซลล์ก็จะเริ่มมีบางเซลล์ที่พัฒนาตัวเองแตกต่างออกไป (differentiate) พร้อมกันนี้ ความสามารถของแต่ละเซลล์ที่จะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนได้ด้วยตัวเองก็จะลดลง บางเซลล์เริ่มปรากฏหน้าที่เฉพาะของเซลล์เอง เช่น เซลล์ที่อยู่ภายนอกจะเริ่มรับรู้ว่าตนเองอยู่ “ด้านนอก” และเตรียมตัวพัฒนาไปเป็นรกและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ที่ห่อหุ้มและปกป้องตัวอ่อนที่จะเติบโตต่อไปภายใน
เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง กลุ่มเซลล์ทั้งหมดนี้จะหลุดออกมาจากเปลือกของเซลล์ไข่ และฝังตัวติดกับผนังมดลูกของมารดา ร่างกายของมารดาจะรับรู้การมีอยู่ของตัวอ่อนเป็นครั้งแรกและเริ่มการตั้งครรภ์เพื่อหล่อเลี้ยงตัวอ่อน แต่กลุ่มเซลล์ที่อยู่ “ข้างใน” ตัวอ่อนนั้น แต่ละเซลล์ยังมีความสามารถที่จะกลายไปเป็นอวัยวะทุก ๆ อย่างในร่างกายได้ หรือแม้กระทั่งแตกตัวออกกลายเป็นตัวอ่อนหลายตัวเกิดเป็นครรภ์แฝดก็เป็นไปได้ ในระยะนี้เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าเซลล์ที่อยู่ข้างในนี้ เซลล์ไหนจะกลายเป็นส่วนของร่างกายมนุษย์ และเซลล์ไหนจะกลายเป็นรก (ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์) แต่เมื่อถึงวันที่สิบสาม ระยะเวลาช่วงที่นักปฏิบัติบางคนเรียกว่าระยะ pre-embryo ก็จะหมดลง
นับจากวันที่สิบสี่หรือวันที่สิบห้าเป็นต้นไป กลุ่มเซลล์ส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งที่อยู่ภายในตัวอ่อนจะเริ่มพัฒนาไปเป็น fetus ที่จะกลายเป็นมนุษย์ ผู้ศึกษาวิจัยจะเริ่มมองเห็นความแตกต่างของเซลล์แต่ละเซลล์ และพบว่าเซลล์กลุ่มหนึ่งพัฒนาขึ้นเป็นโครงสร้างที่เรียกว่า primitive streak ซึ่งเป็นระยะแรกของเส้นประสาทและกระดูกสันหลัง นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของพัฒนาการของตัวอ่อน เพราะว่าจากวันนี้เป็นต้นไปจะไม่มีการแยกตัวออกเป็นแฝดอีกต่อไป ตัวอ่อนอายุสิบห้าวันหนึ่งตัว จะกลายเป็นมนุษย์หนึ่งคน (ถ้าไม่แท้งเสียก่อน) ไม่มากไปกว่านั้น
จากจุดนี้ไปตัวอ่อนจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในการสร้างเนื้อเยื่อต่าง ๆ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 6 ตัวอ่อน embryo ก็จะกลายเป็น fetus เราจะเริ่มเห็นสิ่งที่คล้ายแขน ขา และอวัยวะอื่น ๆ ของมนุษย์…

ปัญหาจริยธรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการวิจัยด้านสเต็มเซลล์นั้น เป็นเพราะในกรณีที่นักวิจัยต้องการสกัดเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์มักจะใช้ตัวอ่อนที่มีอายุ 5-7 วันหลังปฏิสนธิ (เรียกว่า blastocyst) ซึ่งมีกลุ่มมวลเซลล์ภายใน (inner cell mass) ที่เหมาะจะเป็นแหล่งของสเต็มเซลล์ที่นักวิจัยต้องการ และผลของการสกัดเซลล์นี้ออกมาคือ ตัวอ่อนนั้นถูกทำลายมิให้เจริญเติบโตต่อไปได้นั่นเอง
จากความรู้ที่กล่าวมาข้างต้น ข้อกำหนดของหลายประเทศจึงมักจะมีแนวทางให้ปฏิบัติกับตัวอ่อนอย่างระมัดระวัง (และให้ความเคารพระดับหนึ่ง) โดยห้ามมิให้ใช้เซลล์จากตัวอ่อนภายหลังระยะ 14 วันหลังปฏิสนธิ
การกำหนดระยะเวลาหลังปฏิสนธิที่จะนำตัวอ่อนมาใช้ได้หรือไม่ได้นี้ แม้ว่าจะอ้างอิงอยู่บนฐานของความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพัฒนาการของตัวอ่อนมนุษย์ในครรภ์ดังที่กล่าวมาแล้ว (โดยอาศัยเกณฑ์ที่ว่าในวันที่ 14 ตัวอ่อนต้องยังไม่มีพัฒนาการของสิ่งที่ใกล้เคียงกับระบบประสาทหรือความรับรู้ใด ๆ) แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มากว่า ตัวอ่อนเริ่มเป็นมนุษย์เมื่อใด
คำตอบชัด ๆ ในเรื่องนี้คงจะไม่สามารถอิงอยู่กับความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว มิใช่ว่าข้อมูลวิทยาศาสตร์ไม่ชัดเจนเพียงพอ หากแต่เป็นเพราะมนุษย์เองมีความเห็นเกี่ยวกับการตีความหมายของคำว่า “ชีวิต” แตกต่างกันไป ทำให้ปัญหาเรื่องนี้ถูกนำไปพิจารณาในระดับปรัชญาและความเชื่อทางศาสนา ในเมื่อความเห็นในเรื่อง “ชีวิต” ยังต่างกันบนพื้นฐานความเชื่อ ความศรัทธา และการตัดสินใจทางการเมืองของแต่ละประเทศ “การปฏิบัติต่อตัวอ่อนด้วยความเคารพ” จึงมีความเข้มงวดไม่เท่ากัน ดังตัวอย่างที่จะนำเสนอต่อไปนี้

แนวทางขององค์การ UNESCO
องค์การ UNESCO ได้จัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมชีวการแพทย์ (International Bioethics Committee – IBC) ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1994 ให้มีหน้าที่พิจารณาประเด็นและแง่มุมทางจริยธรรมของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการใช้ประโยชน์ด้านชีววิทยาการแพทย์ เพื่อเป็นแนวทางร่วมกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้การพิจารณาและหาข้อสรุป ซึ่ง IBC ก็ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อหาข้อสรุปทางด้านจริยธรรมที่พึงกระทำเกี่ยวกับการวิจัยในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านสเต็มเซลล์ด้วย
คณะทำงานด้านสเต็มเซลล์ของ IBC ซึ่งมี Alexander McCall Smith อาจารย์ทางกฎหมายจากสก็อตแลนด์ และ Michel Ravel นักพันธุศาสตร์จากอิสราเอลร่วมเป็นเลขานุการ ได้พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้ตัวอ่อนมนุษย์เป็นแหล่งของสเต็มเซลล์สำหรับการศึกษาวิจัย (รวมทั้งการใช้ประโยชน์ต่อไปเมื่อการวิจัยได้รับผลสำเร็จ) รายงานของคณะทำงานชุดนี้มีข้อเสนอหลายประการ แต่สุดท้ายก็มิได้ระบุว่า คณะทำงานเห็นว่าการวิจัยโดยใช้สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในทางจริยธรรมหรือไม่ ใจความสำคัญของรายงานมีว่า การวิจัยสเต็มเซลล์ที่มาจากตัวอ่อนเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคเป็นสิ่งที่สมควรกระทำ แต่การดำเนินการของแต่ละประเทศให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสังคมในประเทศนั้น ๆ และแต่ละประเทศควรถเถียงกันอย่างกว้างขวางและเปิดเผยในประเด็นนี้ ที่สำคัญควรจะระบุให้ชัดเจนถึงฐานะของตัวอ่อน (moral standing of the embryo) ในบริบทของแต่ละประเทศ โดยรัฐจำเป็นต้องออกกฎเกณฑ์และมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด

อังกฤษ ผู้นำของการวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านตัวอ่อนและการเจริญพันธุ์
เป็นที่ทราบกันดีว่าอังกฤษเป็นประเทศที่อยู่ในระดับแนวหน้าของการวิจัยเกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ เห็นได้จากการที่ประเทศอังกฤษให้กำเนิดเด็กหลอดแก้ว (เกิดด้วยกระบวนการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือ in vitro fertilisation – IVF) รายแรกของโลกที่ชื่อหลุยส์ บราวน์ เมื่อปี ค.ศ. 1978
จากนั้นเรื่องของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และความเหมาะสมของการวิจัยเกี่ยวกับตัวอ่อนก็เป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคม จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1982 รัฐบาลก็ได้มอบหมายให้คณะกรรมการชุดหนึ่งที่มีชื่อว่า The Warnock Committee ศึกษาโดยรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นของประชาชน สรุปและจัดทำข้อเสนอแนะเป็นรายงานต่อรัฐบาลที่ชื่อว่า The Warnock Report (1984) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการที่นำไปสู่การออกกฎหมาย Human Fertilisation and Embryology Act ในปี ค.ศ. 1990
กฎหมายฉบับนี้มอบอำนาจแก่หน่วยงานอิสระที่ชื่อว่า Human Fertilisation and Embryology Authority (HFEA) ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1991 ให้เป็นองค์กรระดับชาติที่ควบคุมดูแล และออกใบอนุญาตแก่ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านตัวอ่อนมนุษย์และการเจริญพันธุ์ ภายใต้บทบังคับของกฎหมายฉบับนี้นักวิจัยอังกฤษสามารถใช้ตัวอ่อนที่มีอายุไม่เกิน 14 วันในการวิจัย (ด้านสเต็มเซลล์ ฯลฯ) หรือแม้แต่สร้างตัวอ่อนขึ้นเพื่อการวิจัยก็ได้ แม้ว่าต่อมาในปี ค.ศ. 2001 อังกฤษได้ออกกฎหมายเพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งชื่อว่า Human Reproductive Cloning Act ทำให้การโคลนมนุษย์เพื่อเจริญพันธุ์เป็นสิ่งผิดกฎหมายและมีบทลงโทษทางอาญาที่ชัดเจนก็ตาม แต่ก็มิได้ห้ามการโคลนมนุษย์เพื่อ (สร้างสเต็มเซลล์สำหรับ) บำบัดรักษา ทำให้นักวิจัยอังกฤษมีอิสระค่อนข้างมากในการวิจัย (ดูตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 สถิติเกี่ยวกับตัวอ่อนมนุษย์ในอังกฤษ ระหว่างปี ค.ศ. 1991 ถึง 1999

ข้อมูลจากรายงานประจำปีของ HFEA และรายงานจาก Select Committee ของ House of the Lords
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันการที่มีหน่วยงานเฉพาะทางที่มีอำนาจควบคุมดูแลตามกฎหมายเช่นนี้ เปิดโอกาสให้มีการระงับการวิจัยในอนาคต (เมื่อมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ) ที่อาจเข้าข่ายผิดจริยธรรมได้โดยทันทีด้วยการเพิกถอนใบอนุญาต ไม่ต้องรอให้มีการออกกฎหมายหรือกฎระเบียบใหม่ จึงถือได้ว่าเป็นระบบที่ทั้งเข้มงวดและยืดหยุ่นในเวลาเดียวกัน

สหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายไม่สนับสนุนการวิจัยที่ใช้ตัวอ่อน
ในยุคของประธานาธิบดีคลินตัน ได้มีการร่างแนวปฏิบัติ (guidelines) เพื่อพิจารณาให้ทุนวิจัยด้านสเต็มเซลล์จากรัฐบาลกลางโดยผ่านทาง National Institutes of Health (NIH) แนวปฏิบัติที่ร่างไว้นี้มีหลักการที่มีพื้นฐานทางจริยธรรมอยู่ว่า ตัวอ่อนที่ใช้ในการวิจัยจะต้องได้มาโดยเหลือใช้จากการสร้างตัวอ่อนขึ้นมาเพื่อการเจริญพันธุ์ โดยเจ้าของตัวอ่อนต้องเป็นสามีภรรยากัน ได้รับการแจ้งให้ทราบจุดประสงค์ของการนำตัวอ่อนไปใช้และให้ฉันทานุมัติโดยไม่มีสิ่งจูงใจทางการเงินใด ๆ
แต่ทว่าเมื่อถึงยุคของประธานาธิบดีบุช ไม่ทันที่จะนำแนวปฏิบัติที่ร่างเอาไว้มาใช้ในการพิจารณาให้ทุนนโยบายการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยของรัฐบาลก็เปลี่ยนไป โดยมีการประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 2001 ห้ามมิให้ใช้งบประมาณของรัฐบาลในการสนับสนุนการวิจัยสเต็มเซลล์ที่มีการทำลายตัวอ่อน
นโยบายนี้มีผลทำให้แนวปฏิบัติเดิมที่ร่างไว้ต้องถูกยกเลิกไป และนักวิจัยในสหรัฐที่ขอรับทุนวิจัยจากรัฐบาล จะต้องใช้สเต็มเซลล์ไลน์ที่มีการพัฒนาขึ้นไว้แล้วก่อนวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 2001 เท่านั้นเป็นวัสดุสำหรับการวิจัย ห้ามสร้างตัวอ่อนขึ้นใหม่ และห้ามสนับสนุนแม้กระทั่งการนำตัวอ่อนเหลือใช้จากการทำ IVF ที่มีอยู่เป็นจำนวนนับแสนมาใช้ในการวิจัยสเต็มเซลล์ กล่าวได้ว่าเป็นนโยบายที่อยู่บนหลักการความเชื่อในทางจริยธรรมที่เข้มงวดที่สุดอันหนึ่ง แม้ว่าจนถึงปัจจุบันนี้จะถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากผู้เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่นักวิจัย ผู้ให้ทุนวิจัยรายเอกชน มหาวิทยาลัย และผู้ป่วยที่รอความก้าวหน้าทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคของพวกเขา ในจำนวนผู้คัดค้านนี้มีนายจิม คลาร์ค ผู้ก่อตั้งบริษัท Silicon Graphics และเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของสถาบันวิจัยทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง และนาย Christopher Reeves ดาราภาพยนตร์ผู้ป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากประสบอุบัติเหตุที่ทำให้กระทบกระเทือนสันหลัง
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐยังคงให้อิสระ ในการทำวิจัยกับตัวอ่อนในภาคเอกชน และไม่มีกฎหมายใด ๆ ที่ห้ามในเรื่องนี้ จึงเกิดสถานการณ์ที่แปลกประหลาดว่า ขณะที่ด้านหนึ่งปิดกั้นการวิจัยในภาครัฐ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ปล่อยงานวิจัยที่อยู่ในมือบริษัทให้ดำเนินต่อไป ทำให้กลุ่มศาสนา ฯลฯ ที่สนับสนุนการออกกฎหมายห้ามวิจัยตัวอ่อนโดยเด็ดขาด หันมาต่อต้านนโยบายนี้เช่นกัน ว่าเป็นการดำเนินนโยบายสองมาตรฐาน
พร้อมกับการประกาศนโยบายของประธานาธิบดีบุช รัฐบาลสหรัฐก็ได้เปิดเผยรายชื่อของสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีสเต็มเซลล์ที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นเซลล์ไลน์แล้ว และสนับสนุนให้นักวิจัยใช้เซลล์จากแหล่งที่มีอยู่แล้วเหล่านี้  ท่ามกลางความเป็นห่วงของนักวิจัยว่า เซลล์เหล่านั้นอาจไม่ได้คุณภาพ (ขาดเสถียรภาพในความเป็นเซลล์ไลน์) หรือแม้เมื่อรวมกันแล้วก็ยังมีความหลากหลายทางพันธุกรรมไม่เพียงพอในการศึกษาวิจัยโรคบางอย่าง และไม่หลากหลายพอสำหรับเป็นตัวเลือกในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้เข้ากันได้กับคนไข้ที่ต้องการนำเนื้อเยื่อไปปลูกถ่าย (ตารางที่ 2)

ตารางที่ 2 แหล่งสเต็มเซลล์ไลน์ที่รัฐบาลสหรัฐประกาศ และจำนวนเซลล์ไลน์ที่มีอยู่ในแต่ละแหล่ง

แหล่งข้อมูล: Monitoring Stem Cell Research: A Report of The President’s Council on Bioethics

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษจะเห็นได้ว่า สหรัฐไม่มีหน่วยงานกลางที่ได้รับมอบอำนาจทางกฎหมายให้ควบคุมในเรื่องจริยธรรมของการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับตัวอ่อน ทำให้แต่ละมลรัฐต่างก็มีนโยบายและการออกกฎหมายควบคุมการวิจัยตัวอ่อนมนุษย์ในหลากหลายระดับต่าง ๆ กันไป แต่ขณะนี้มีกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลกลางจัดตั้งหน่วยงานลักษณะดังกล่าวขึ้นเพื่อควบคุมการวิจัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ในทำนองเดียวกับหน่วยงานควบคุมการบินของรัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Aviation Administration) ที่เกิดขึ้นเพราะความก้าวหน้าและความเสี่ยงของเทคโนโลยีการบินทำให้จำเป็นต้องมีการควบคุมด้วยมาตรฐานเดียวกัน

ประเทศอื่น ๆ ที่มีความเคลื่อนไหวคืบหน้าในเรื่องนี้ได้แก่ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายที่ห้ามการใช้เทคโนโลยีโคลนนิ่งมนุษย์เพื่อเจริญพันธุ์ (Law Concerning Regulation Relating to Human Cloning Techniques an Other Similar Techniques, 2000) แต่ในการสกัดสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนเหลือใช้จากการทำ IVF เพื่อช่วยเจริญพันธุ์และได้รับบริจาคมาเพื่อทำการวิจัยนั้น ให้ใช้แนวปฏิบัติ (Guidelines for Derivation and Utilization of Human Embryonic Stem Cells, 2001) กำหนดเงื่อนไขในการใช้ตัวอ่อนไว้ระดับหนึ่งแต่ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย ล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2004 สภานโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบาย ได้เสนอแนวทางอนุญาตให้นักวิจัยสร้างตัวอ่อนขึ้นด้วยการโคลนได้เพื่อใช้ในการวิจัย แต่ยังไม่ถึงขั้นยินยอมให้นำโคลนนี้ไปสกัดสเต็มเซลล์ไลน์ เนื่องจากต้องการใช้ความรอบคอบในเรื่องความปลอดภัยของการใช้เซลล์โคลนเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว
ด้านออสเตรเลียได้ออกกฎหมาย Research Involving Human Embryos Act 2002 มีแนวทางคล้ายกับของญี่ปุ่นนั่นคือให้ใช้เฉพาะตัวอ่อนที่เหลือจากการบำบัดรักษาเพื่อช่วยการเจริญพันธุ์เท่านั้นในการวิจัย
เพื่อให้ง่ายแก่การเปรียบเทียบ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมข้อมูลสถานภาพของนโยบายและการควบคุมการวิจัยตัวอ่อนมนุษย์ในหลายประเทศ เรียงตามลำดับความเข้มงวด (ตารางที่ 3) ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าในระดับนานาประเทศมีความแตกต่างของระดับการควบคุม การยินยอมหรือสนับสนุนให้มีการวิจัยได้ต่าง ๆ กัน ตั้งแต่กลุ่มที่มีระดับการควบคุมที่เข้มงวด ไปจนถึงกลุ่มที่ผ่อนผันและเอื้ออำนวยต่อการวิจัยมาก

ตารางที่ 3 เปรียบเทียบแนวทางของประเทศต่าง ๆ ในการควบคุมการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด

แหล่งข้อมูล: Walter’s data (2002), modified and updated up to June 2004.

แนวปฏิบัติสำหรับประเทศไทยยังอยู่ในระยะทดลองใช้
แนวปฏิบัติสำหรับการวิจัยด้านสเต็มเซลล์ในมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาในประเทศไทยในปี ค.ศ. 2003 นั้น เกิดขึ้นภายใต้โครงการชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้เชิญชวนนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักกฎหมาย และนักสังคมศาสตร์ จากสถาบันต่าง ๆ ร่วมกันจัดทำ (ร่าง) แนวปฏิบัติและประเด็นพิจารณาทางชีวจริยธรรมด้านการทำวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน และหนึ่งในนั้นก็คือ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการวิจัยด้านสเต็มเซลล์ในมนุษย์
ในการจัดทำแนวปฏิบัติ โครงการฯ ได้ใช้กลไกคณะทำงานเป็นผู้ร่างแนวปฏิบัติฯ และมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาเป็นผู้ตรวจสอบ นอกจากนี้ยังได้จัดเวทีสาธารณะขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2004 เพื่อให้เกิดกระบวนการร่วมพิจารณาและรับฟังข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) แนวปฏิบัติดังกล่าว จนได้นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้มีความครอบคลุมและถี่ถ้วนต่อประเด็นสำคัญด้านจริยธรรมถึงระดับที่เป็นที่ยอมรับของบุคคลต่าง ๆ ในวงกว้างในสังคมไทย และให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้
(ร่าง) แนวปฏิบัติด้านสเต็มเซลล์ฯ นี้ มีลักษณะเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นเงื่อนไขในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย (guidelines) ในลักษณะเดียวกับแนวปฏิบัติเดิมของ NIH ของสหรัฐที่จัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาลคลินตัน มิใช่เป็น code of conduct    (ร่าง)ฯ ฉบับนี้ได้ให้แนวทางในการจัดการกับปัญหาหลักทั้งสองประเด็นที่กล่าวถึงในตอนต้นของบทความนี้ โดย
กำหนดเงื่อนไขที่ผู้ให้ทุนวิจัยจะนำไปพิจารณาในการอนุมัติให้ทุนวิจัย
กำหนดประเด็นที่ควรมีระบุในแบบรับรองคำยินยอมของผู้บริจาคตัวอ่อนหรือไข่เพื่อการวิจัย
ระบุอย่างชัดเจนถึงชนิดของงานวิจัยที่ใช้สเต็มเซลล์ที่ไม่ควรได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งควบคุมงานวิจัยที่ใช้กระบวนการเปลี่ยนถ่ายนิวเคลียสระหว่างมนุษย์และสัตว์
ทั้งหมดนี้เป็นการกำหนดและระบุโดยอยู่บนหลักการทางจริยธรรมที่เป็นที่ยอมรับโดยกว้าง ๆ ในสังคมไทยโดยเงื่อนไขและประเด็นในข้อ 1. และ 2. เป็นไปตามที่ระบุไว้แล้วในหน้าแรกของเอกสารฉบับนี้
ข้อที่น่าสังเกตคือ ในเนื้อหาสาระของ (ร่าง) แนวปฏิบัติฯ มิได้ระบุถึงการห้ามกระทำการวิจัยโดยใช้ตัวอ่อนที่สร้างขึ้นเพื่อการวิจัย หากเป็นการวิจัยที่ได้ตัวอ่อนมาโดยชอบตามหลักจริยธรรมที่กำหนดไว้ ดังนั้นในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีระดับการควบคุมใกล้เคียงกับแนวทางของประเทศอังกฤษ ทว่าขณะนี้ยังมิได้มีกระบวนการที่ชัดเจนที่จะพัฒนาไปจนถึงขั้นออกเป็นกฎหมาย และยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมดูแลดังเช่นกรณีของอังกฤษ และยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลดังเช่นสหรัฐอเมริกา (จะมีก็แต่การประกาศจุดยืนของแพทยสภาที่ห้ามการวิจัยที่จะเป็นการโคลนมนุษย์) ผู้เขียนเห็นว่าในประเด็นสถานภาพของตัวอ่อนยังไม่มีการถกเถียงเรื่องนี้ในสังคมไทยอย่างเพียงพอที่จะนำมาเป็นข้อสรุปเอกฉันท์หรือเป็นบรรทัดฐานที่ดีได้
ผู้อ่านพึงระลึกว่า (ร่าง) แนวปฏิบัตินี้มุ่งให้หน่วยงานให้ทุนวิจัยและพัฒนาในประเทศได้ทดลองนำไปใช้ และปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ทางสังคมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่อไป เพื่อให้งานวิจัยที่อาจมีคุณูปการต่อประเทศและสังคมโลกได้ดำเนินไปโดยอยู่ในขอบเขตของหลักเกณฑ์ทางจริยธรรมที่ผ่านการกลั่นกรองมาระดับหนึ่ง
รวมทั้งอาจเป็นชนวนให้มีการเปิดอภิปรายในข้อถกเถียงสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของมนุษย์ทุกคนที่ว่า “ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นเมื่อไหร่?”

บรรณานุกรม
The President’s Council on Bioethics, Monitoring Stem Cell Research, USA, 2004.
Some Basic Thinking in Treating the Human Embryo, Report of the Expert Panel on Bioethics, Japan’s Council for Science and Technology Policy, Cabinet Office, 2004.
European Communities, Modern Biology & Visions of Humanity, Multi-Science Publishing Co. Ltd., 2004.
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ, (ร่าง) แนวปฏิบัติและประเด็นพิจารณาทางชีวจริยธรรมด้านการทำวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์, 2003
Science & Technology Foresight Center of NISTEP, Science & Technology Trends: Quarterly Review, Background of the Establishment of a Control System for Human Embryo in the UK and Its Actual Function, No. 8, pp. 27 – 43, July 2003.
Office of Legislative Drafting, Attorney-General’s Department, Canberra, Research Involving Human Embryos Act 2002 (Act No. 145 of 2002 as amended), 2003.
นเรศ ดำรงชัย, ผลกระทบด้านจริยธรรมของการศึกษาวิจัย Stem Cell, ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ, 2002.
Hwa A. Lim, Genetically Yours: Bioinforming, Biopharming, Biofarming, World Scientific, 2002.
House of the Lord, Stem Cell Research – Report, 2002.
UK Department of Health, Government Response to the House of the Lords Select Committee Report on Stem Cell Research, 2002.
UK Department of Health, Stem Cell Research: Medical Progress with Responsibility (Donaldson Report), 2000.
Lee M. Silver, Remaking Eden: Cloning and Beyond in a Brave New World, Avon Books, 1997.