บทความ.


“พันธุกรรมและสิทธิที่จะไม่รู้”
โครงการชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่
http://www.thainhf.org/bioethics/technicalpaper_view.asp?id=45

ประเทศไทยมีบริษัทตรวจยีนเปิดให้บริการแล้ว ตรวจยีนหมายถึงตรวจพันธุกรรม เช่น คุณปู่ของเราเป็นโรคหัวใจตาย คุณอาของเราก็เป็นโรคหัวใจด้วย เราอยากรู้ว่าตนเองจะเป็นโรคหัวใจหรือเปล่าก็สามารถไปขอตรวจยีนหรือขอตรวจพันธุกรรมได้
    ตรวจแล้วก็(อาจ)จะรู้ว่ามีหรือไม่มียีนหรือพันธุกรรมของโรคหัวใจ 
    อีกตัวอย่างหนึ่งที่ลงข่าวบ่อยคือโรคมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลขนาดใหญ่บางแห่งสามารถตรวจยีนหรือพันธุกรรมที่รับผิดชอบโรคมะเร็งเต้านมได้ เราอยากรู้ว่าตนเองจะเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือเปล่าก็สามารถไปขอตรวจยีนหรือขอตรวจพันธุกรรมได้
    ตรวจแล้วก็(อาจ)จะรู้ว่ามีหรือไม่มียีนหรือพันธุกรรมของโรคมะเร็งเต้านม
    ฟังดูก้าวหน้าดี แต่มีเรื่องต้องอธิบายกันหลายเรื่องทีเดียว
    เรื่องแรกคือเมื่อตรวจแล้วพบยีนที่รับผิดชอบต่อโรคหนึ่ง ก็ขอให้ทราบว่ามีความหมายเพียงเรามียีนตัวนั้นหรือยีนชุดนั้น แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเป็นโรคนั้นๆอย่างแน่นอน การจะเป็นโรคหรือไม่เป็นโรคยังจะขึ้นกับอีกหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องสถิติไปจนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม
    แน่นอนว่ารวมทั้งเรื่องการปฏิบัติตัวด้วย มียีนรับผิดชอบโรคหัวใจอยู่ในตัวแต่ถ้าปฏิบัติตัวดีก็สามารถเลี่ยงโรคหัวใจได้ ในทางกลับกันไม่มียีนรับผิดชอบโรคหัวใจแต่ถ้าปฏิบัติตัวแย่ก็สามารถเป็นโรคหัวใจได้เหมือนกัน
    เรื่องที่สองคือการแปลความหมายยีนที่ตรวจพบต้องแปลกันดีๆ ข่าวหรือโฆษณามักใช้คำง่ายๆ เช่น โรคหัวใจ หรือ โรคมะเร็งเต้านม แต่ในภาษาแพทย์ยีนที่ตรวจพบไม่ได้รับผิดชอบโรคกันตรงๆ เช่น ตรวจหายีนโรคหัวใจได้อาจจะเป็นเพียงการตรวจหายีนที่รับผิดชอบคอเลสเตอรอล ส่วนจะรับผิดชอบคอเลสเตอรอลตัวไหน รับผิดชอบกันอย่างไร ก็ยังต้องคุยกันอีกว่าที่แท้แล้วแปลว่าอะไรกันแน่ เป็นต้น
    เรื่องที่สามที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกัน นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า สิทธิที่จะไม่รู้ เราอาจจะไม่ต้องการทราบว่าเรามียีนที่รับผิดชอบโรคหัวใจหรือโรคมะเร็งเต้านมหรือเปล่า แต่ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวของเราหรือคนที่มีนามสกุลเหมือนเราไปตรวจแล้วตรวจพบแล้วเขามาบอกให้คนอื่นๆในครอบครัวทราบ ความรู้ที่ไม่อยากรู้นี้จะกระทบกระเทือนจิตใจของเราและสมาชิกครอบครัวแต่ละคนอย่างไร
    สมาชิกแต่ละวัยทั้งเด็กและวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงานจะตีความหรือแปลความข่าวที่ว่ามีพันธุกรรมของโรคบางอย่างปรากฏขึ้นในครอบครัวของเรากันอย่างไร?


ผู้แต่ง: นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์